หอการอุดรธานีเคลื่อนต่อเศรษฐกิจ 3 เส้า"การค้าลงทุน ท่องเที่ยว เกษตรฯ"

30 เม.ย. 2566 | 11:25 น.

ประธานหอการค้าอุดรฯคนใหม่พร้อมบูรณาการรัฐ-เอกชน เคลื่อนเศรษฐกิจ 3 สาขา"การค้าลงทุน ท่องเที่ยว เกษตร" ชี้อุดรธานีมีจุดแข็งรองรับโอกาสเติบโตเพียบ

นายธนพล  กองทรัพย์ไพศาล  ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี คนใหม่ สมัยที่ 20 เปิดห้องทำงานให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรหอการค้าจังหวัดอุดรธานีในระยะต่อไป ว่า ยังคงมุ่งสร้างความร่วมมือ กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเหนียวแน่น โดยยึดแนวทางของหอการค้าจังหวัดอุดรธานี 3 หลักใหญ่ คือ การส่งเสริมการค้าการลงทุน  การท่องเที่ยว และการส่งเสริมสนับสนุนการเกษตร 

โดยแนวทางการทำงานจากนี้ ได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือกับอดีตประธานหอการค้าอุดรธานี  ประธานหอการค้าจังหวัดอาวุโส รองประธานหอการค้าไทย (ภาคอีสาน) เพื่อวางแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานข้างเคียง ซึ่งในส่วนของภาคเอกชน มีสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดซึ่งทำงานร่วมในรูปของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  ซึ่งที่ผ่านก็เป็นไปด้วยดี

ในส่วนของหอการค้าจังหวัดอุดรธานี มีภารกิจที่ต้องดำเนินนโยบายของหอการค้าไทย และหอการค้าภาคอีสาน หรือพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายสวาท  ธีรัรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย (ภาคอีสาน) เป็นผู้นำองค์กร 

ส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐนั้น ก็เป็นไปด้วยดี โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีบทบาทที่ค่อนข้างแตกต่างกัน คือ บางเบทบาทภาครัฐมีแต่เอกชนไม่มี ในทางกลับกันบทบาทบางอย่างภาคเอกชนมี และเข้มแข็งรวดเร็วในการตัดสินใจ แต่ภาครัฐไม่มี  ฉะนั้นจึงเกิดความร่วมมือในลักษณะเกื้อกูลต่อกันและกัน ซึ่งจะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญเติบโตไปได้ตามนโยบายของรัฐบาล

ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานีคนใหม่ กล่าวอีกว่า อุดรธานียังมีจุดแข็งบางอย่างอยู่ เช่น เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุน ของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แม้ว่าไม่มีพื้นที่ติดชายแดน  แต่สินค้าอุปโภค-บริโภค การค้าปลีกค้าส่งชายแดนเกือบทุกชนิดไปจากอุดรธานี มีเที่ยวบินจากสนามบินอุดรธานี ไปยังจุดหมายต่าง ๆ ทั่วประเทศมากสูงสุดรองจากสนามบินกระบี่  
 

อุดรธานีมีรายได้จากแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ รายได้จากครัวเรือนชาวต่างชาติ ที่มีภรรยาเป็นคนไทย หรือรายได้จากการท่องเที่ยว  ที่แม้ว่ายังเป็นเมืองรองด้านนี้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับของเป็นเมืองในการจัดประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า  เหตุเพราะอุดรธานีมีความสะดวกในการเดินทาง ต้นทุนค่าใช้จ่ายรายหัวต่ำ  

อีกทั้งยังมีปัจจัยเสริมภายนอก คือการเปิดใช้โครงการรถไฟจีน-ลาว ทำให้อุดรธานีเป็นเป้าหมายของการลงทุนจากประเทศจีน  เพราะอุดรธานีมีนิคมอุตสากรรมที่พร้อมที่จะรองรับการลงทุน นอกจากนี้การท่องเที่ยวชองคนจีน กำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้ เพราะทางการจีนอนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศได้แล้ว 

ส่วนการส่งเสริมด้านกาตเกษตรนั้น ต้องมุ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยเกษตรกรรุ่นใหม่  หรือ Young Smart Farmer  เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมเพียงพอกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการเกษตรปศุสัตว์ เป็นสิ่งจำเป็นและทำกันอยู่แล้ว ในการส่งเสริมเลี้ยงวัวพันธุ์ วัวเนื้อ ในหลายพื้นที่ เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีอีกมาก ซึ่งต้องส่งเสริมด้านความรู้ความเข้าใจกับการเกษตรยุคใหม่  

อีกกิจกรรมหนึ่งที่จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน หอการค้าจังหวัด ร่วมกับบริษัทเอกชน จะส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาตะเพียน เพื่อนำเอาไปแปรรูปเป็นอาหาร”ปลาส้ม” ได้มาตรฐานพื่อส่งออก  โดยร่วมกับเกษตรกรรุ่นใหม่  หรือ Young Smart Farmer  เข้าใช้ความรู้ ความสามารถ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำการวิจัยร่วมกับประมงจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมพื้นที่ให้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาตะเพียนต่อไป

ส่วนกรณีทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ที่สถาบันการเงินเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่เม.ย.2566 เป็นต้นไป นายธนพลชี้ว่า น่าจะมีปัญหาในหลายด้าน  เช่น ประเทศเพิ่งจะพ้นภาวะการระบาดของโรคโควิค-19 และเวลานี้มีรายงานผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตขึ้นหลายตัว ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ทำให้ครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม เศรษฐกิจชะลอตัว หากดอกเบี้ยมาปรับขึ้นอีกผู้ประกอบการธุรกิจต้องปรับตัวรับเพิ่มอีก

"หอการค้าอุดรธานี ได้เริ่มขอพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่บ้างแล้วเป็นเบื้องต้น เห็นว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อมาปรับปรุงพัฒนาธุรกิจยังจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs  มีการพูดคุยปรึกษากับธนาคารของรัฐ  เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดกับผู้ประกอบการ SMEs แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่า ผู้ประกอบการรายเล็กที่ยื่นขอกู้ธนาคารแล้วมักไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากมีปัญหาชื่อติดในเครดิตบูโร ไม่ใช่เรื่องอัตราดอกเบี้ย ทุกฝ่ายควรที่จะให้ความสำคัญต่อการจัดระเบียบการเงิน หนี้สิน กึ่งรีไฟแนนซ์กับ SMEs รายเล็ก บุคคลทั่วไป และการไปเงินกู้นอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าสถาบันการเงิน ต้องให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างจริงจัง" 

“ทุกปัญหา เป็นเรื่องที่ทุก ๆ ฝ่ายก็ต้องร่วมมือกันแก้ไข และช่วยกันขับเคลื่อนให้ไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตามเป้าประสงค์ของทุก ๆ ฝ่าย จึงจะชับเคลื่อนไปด้วยกันได้”  นายธนพลกล่าวย้ำ