เร่งประมูล 3 แสนล้าน สร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2

26 เม.ย. 2566 | 08:17 น.

“คมนาคม” กางแผนสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 แตะ 3 แสนล้านบาท เล็งชงครม.ไฟเขียว ภายในเดือนส.ค.นี้ เร่งเปิดประมูลหาผู้รับจ้าง ก.ย.66 เริ่มตอกเสาเข็มภายในเดือนมิ.ย.67 คาดเปิดให้บริการปี 73

หลังจากโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ได้เริ่มก่อสร้างหลายสัญญาแล้ว ถึงแม้ว่าบางสัญญายังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง แต่ปัจจุบัน “คมนาคม” พยายามผลักดันต่อในโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางระหว่างประเทศสะดวกมากขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย หรือไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 3 แสนล้านบาท

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากที่ผ่านมารฟท.ได้เสนอรายงานฯต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ (คชก.) ได้มีมติให้ปรับปรุงรายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จ   
 

ขณะเดียวกันโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2  จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการฯภายในเดือนสิงหาคม 2566  และจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาภายในเดือนกันยายน 2566 - พฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 - พฤษภาคม 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571 โดยจะดำเนินการติดตั้งงานระบบและอาณัติสัญญาณ ภายในเดือนมกราคม 2568 - มิถุนายน 2573 คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนของกระทรวงคมนาคมภายในปี 2573

 

ด้านการเวนคืนที่ดินของโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการภายในเดือนสิงหาคม 2566 - กรกฎาคม 2568 พบว่ามีพื้นที่เวนคืนที่ดินน้อย เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ดำเนินการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีภูเขา รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยใช้เขตรถไฟเดิมเกือบทั้งหมด 
 

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ตามแผนโครงการดังกล่าวจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้าง โดยแบ่งสัญญาไม่เกิน 10 สัญญา เนื่องจากบางสัญญาที่อยู่ภายในเมืองสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ยาก เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค,ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้า รวมทั้งผู้บุกรุกที่อาศัยภายในชุมชนใหญ่ ส่งผลให้การรื้อย้ายต้องใช้ระยะเวลา

 

หากมีการแบ่งหลายสัญญา ส่งผลให้มีผู้รับเหมาคุมงานก่อสร้างไม่เพียงพอ เบื้องต้นรฟท.มีความเห็นว่าควรขยายสัญญาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูลมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้รับจ้างมีรายเล็กมีผลงานด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นด้วย 

เร่งประมูล 3 แสนล้าน สร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2

สำหรับแนวเส้นทางของโครงการฯตลอดระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) นั้น แบ่งการก่อสร้างเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กิโลเมตร (กม.) และทางรถไฟยกระดับ 171 กิโลเมตร (กม.) มีทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยจะมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย รวมทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จังหวัดหนองคาย

 

 ส่วนการออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร (กม.) ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที

 

อย่างไรก็ตามโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีน