"ประกันสังคม"เปิด 4 รายชื่อเว็บปลอม เตือนอย่าหลงเชื่อ

10 มี.ค. 2566 | 05:40 น.

"ประกันสังคม"เปิด 4 รายชื่อเว็บปลอมแอบอ้างชื่อหลอกให้ดาวน์โหลดเอกสารและกรอกข้อมูลส่วนตัว เตือนอย่าหลงเชื่อ พร้อมเผยจุดสังเกตเว็บไซต์จริง http://www.sso.go.th เช็คเลย

สำนักงานประกันสังคม เตือนอย่าหลงเชื่อเว็บไซต์ปลอม เช็กให้ดี ก่อนเข้าใช้ 4 รายชื่อเว็บปลอมแอบอ้างชื่อหลอกให้ดาวน์โหลดเอกสารและกรอกข้อมูลส่วนตัว มีดังนี้

  • ssogo-th.cc
  • ssth9.com
  • sso-th.cc
  • sso-go-th.com

ระวังหลอกให้ดาวน์โหลด ตรง SSO E-SERVICE หัวข้อ สถานพยาบาล

"ประกันสังคม"เปิด 4 รายชื่อเว็บปลอม เตือนอย่าหลงเชื่อ

จุดสังเกตเว็บไซต์จริงของประกันสังคม

  • http://www.sso.go.th

อันนี้เท่านั้นไม่มีเว็บอื่น

  • มีสัญลักษณ์รูปกุญแจที่เป็น Connection secure

ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนพบเห็นเว็บไซต์ปลอม เพจปลอมที่แอบอ้างชื่อสำนักงานประกันสังคมโปรดแจ้งมายังสำนักงานประกันสังคม หรือหากท่านเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงของพวกมิจฉาชีพดังกล่าว สามารถแจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที

ล่าสุดนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้นำตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ สำนักงานประกันสังคม นำไปใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนหลงเชื่อและแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น ประกันสังคมรับสมัครงานโครงการ WFH การันตีรายได้ ส่งข้อความเพื่อตรวจสอบสิทธิ์เยียวยาโควิด สิทธิประกันสังคมสร้างรายได้สำหรับคุณแม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับสิทธิประโยชน์ เป็นต้น

หากพบเห็นการชักชวน ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในลักษณะดังกล่าว โปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจถูกหลอกให้เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครงาน หรือหลอกลวงขอข้อมูลส่วนบุคคลและนำไปสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือนำไปสวมตัวตนสมัครแอปพลิเคชันทางการเงิน หรือแม้กระทั่งนำไปหลอกลวงผู้อื่นต่อ

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคม มีหน่วยงานเพื่อตรวจสอบ เฝ้าระวังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางต่างๆ ที่มีการโฆษณาชักชวน โดยจะแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ใน "ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ" ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และ ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท”

ทางสำนักงานประกันสังคม ยังมีการประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti Fake News เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิดและนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อ รวมทั้งการดำเนินการของฝ่ายกฎหมายของสำนักงานประกันสังคม ที่ส่งเรื่องดำเนินคดีไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้วย โดยทันทีที่พบเห็นผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงบนสื่อสังคมออนไลน์ สำนักงานประกันสังคมได้ประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำและแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงพฤติการณ์ของผู้ที่หลอกลวงอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ป้องกันการถูกหลอกลวง

ทั้งนี้ หากพบเห็นประกาศเชิญชวนต่างๆที่อ้างชื่อหรือตราสัญลักษณ์ของสำนักงานประกันสังคมโดยไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้โพสต์ได้ เช่น ไม่มีรูปภาพจริงเจ้าของโพสต์ ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ

หากต้องการข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคมที่ถูกต้อง สามารถติดตามได้หลายช่องทางทั้ง เว็บไซต์ www.sso.go.th แอปพลิเคชัน SSO Connect ช่องทาง Line @ssothai หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง 

ที่มา : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office