มาแล้ว “เซ็นทรัล” จ่ายค่าตอบแทนที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน 1.3 พันล้าน

16 ธ.ค. 2565 | 06:00 น.

“รฟท.” รับชำระค่าตอบแทน “เซ็นทรัล” หลังใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ปี 65 แตะ 1.3 พันล้านบาท เผยตามสัญญาต้องชำระรายปี 20 งวด จนสิ้นสุดสัญญาปี 71

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.รับชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินประจำปี 2565 จากนายปัณฑิต มงคลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานด้านการเงิน บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ผู้แทนจากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นค่าใช้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่ของรฟท. ในรอบระยะเวลา 1 ปี (วันที่ 19 ธันวาคม 2564 - 18 ธันวาคม 2565) เป็นเงิน 1,309,059,000 บาท รับมอบการรับชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน

มาแล้ว “เซ็นทรัล” จ่ายค่าตอบแทนที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน 1.3 พันล้าน

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ตามที่รฟท. ได้ทำสัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน บนพื้นที่จำนวน 47.22 ไร่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ระยะเวลาการใช้ประโยชน์ 20 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2551 – 18 ธันวาคม 2571 โดยผลตอบแทนรวมตลอดอายุสัญญา เป็นจำนวนเงิน 21,298,833,000  บาท กำหนดชำระค่าผลประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินภายในวันที่ 19 ธันวาคมของทุกปี  โดยจะต้องชำระให้แก่รฟท. เป็นรายปี รวม 20 งวด ตลอดระยะเวลาสัญญา
 

สำหรับการชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์การใช้พื้นที่ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ประจำปี 2565 เป็นปีที่ 15 ที่การรถไฟฯ จะได้รับจากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์ พัฒนา จำกัด โดยคิดเป็นจำนวนเงิน 1,309,059,000 บาท ส่งผลให้จนถึงปัจจุบันระหว่างปี 2551-2565 รวมแล้วทั้งสิ้น 12,365,785,000 บาท 

มาแล้ว “เซ็นทรัล” จ่ายค่าตอบแทนที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน 1.3 พันล้าน

ที่ผ่านมารฟท.ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงาน และการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีประเด็นข้อพิพาท และไม่มีปัญหาการบุกรุก เพื่อนำที่ดินออกจัดประโยชน์เป็นสิ่งปลูกสร้าง การเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยที่ดินทั้งสองส่วนนี้การรถไฟฯ ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อบริหารทรัพย์สินและสัญญา รวมถึงได้ตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRT Asset) โดยเป็นบริษัทลูกที่ การรถไฟฯ ถือหุ้น100% ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสุงสุด