เปิดข้อมูลเศรษฐกิจไทย ปี 66 โต 3.5% ปัจจัยอะไรเป็น พระเอก-ผู้ร้าย

21 พ.ย. 2565 | 09:09 น.

สศช. เปิดแนวโน้มข้อมูลเศรษฐกิจไทย ปี 2566 คาดโต 3.5% ไปเช็คตัวเลขทั้งหมดในปีหน้าว่า มีทิศทางเป็นอย่างไร และปัจจัยอะไรที่เป็น พระเอก-ผู้ร้าย รวบรวมไว้ครบที่นี่

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยแนวโน้ม เศรษฐกิจไทย ปี 2566 คาดว่า จะขยายตัว 3 – 4% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.5% โตจากปีก่อน ซึ่งขยายตัว 3.2% ประเมินอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 2.5 - 3.5% เทียบกับ 6.3% ปีก่อน และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.1% ของ GDP จากปีก่อนขาดดุล 3.6%

 

1. สศช. ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2566 ดังนี้

 

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 

  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าในปี 2566 จะขยายตัว 3% เทียบกับ การขยายตัวในเกณฑ์สูง 5.4% ในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง 
  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะลดลง 0.1% เทียบกับการลดลง 0.2% ในปี 2565 สอดคล้องกับการลดลงของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำ ภายใต้งบประมาณรายจ่ายปี 2566 รวมถึงการสิ้นสุดของแรงสนับสนุนจากงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

การลงทุนรวม 

 

คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับ 2.6% ในปี 2565 แยกเป็น

  • การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.6% เทียบกับ 3.9% ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก 
  • การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2.4% เพิ่มขึ้นจากการลดลง 0.7% ในปี 2565 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน ภายใต้งบประมาณปี 2566 รวมถึงแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจ

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1% เทียบกับ 7.5% ในปี 2565 แยกเป็น 

  • ปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจาก 3.2% ในปี 2565 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 
  • ราคาสินค้าส่งออก ขยายตัวอยู่ในช่วง (-0.5) - 0.5% เทียบกับ 4.3% ในปี 2565 
  • การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น คาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เทียบกับ 5.7 แสนล้านบาท ในปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8.5% เทียบกับ 8.2% ในปี 2565

 

สศช. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจ และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

 

คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.6% เทียบกับ 17.8% ในปี 2565 ดังนี้

  • ปริมาณการนำเข้า ขยายตัว 2.6% ชะลอลงจาก 5.3% 
  • ราคาสินค้านำเข้า ลดลงร้อยละ (-0.5%) - (-1.5%) เทียบกับการขยายตัว 12.5% ในปี 2565 
  • การนำเข้าบริการ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการเดินทางออกนอกประเทศของคนไทย ทำให้คาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.6% เทียบกับ 6.8% ในปี 2565

 

ดุลการค้า

 

คาดว่าจะเกินดุล 1.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับการเกินดุล 1.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้า 

 

ขณะที่ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจ่านวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1.1% ของ GDP เทียบกับการขาดดุล 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นการขาดดุล 3.6% ของ GDP ในปี 2565

 

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 

คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะอยู่ในช่วง 2.5 -3.5% เทียบกับ 6.3% ในปี 2565 สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ

 

สศช. แถลงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565

 

2. ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2566

  • การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 
  • การขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ
  • การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภายในประเทศ
  • แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเกษตร

 

3.ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 2566

 

(1.) ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยมีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 

  1. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ในระดับสูง
  2. ความยืดเยื้อของปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
  3. แนวโน้มการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน

 

(2.) ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 

  • สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ในไตรมาสที่สองของปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.6% กับ 11.7% 
  • สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่สองของปี 2565 อยู่ที่ 88.2% เทียบกับ 78.8% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ตอบคำถามสื่อมวลชน

 

(3.) ความเสี่ยงจากการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนมีความคืบหน้า แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการหลบหนีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน และมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดได้เร็วและรุนแรงมากกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้า 

 

นอกจากนี้ อัตราการได้รับวัคซีนของประเทศที่มีรายได้น้อย ส่งผลให้เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และเป็นความเสี่ยงที่จะท่าให้เชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ในระยะต่อไป