สศช. เปิด GDP ไทยไตรมาส 3 โต 4.5% คาดทั้งปี 65 ขยายตัว 3.2%

21 พ.ย. 2565 | 02:35 น.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดตัวเลข GDP ไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โต 4.5% ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565-2566 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 4.5% จากไตรมาสที่ 2 ซึ่งขยายตัว 2.5% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการใช้จ่าย และด้านการผลิต

 

"เศรษฐกิจไทยขยายตัวมาต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2564 จนมาถึงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ซึ่งเครื่องชี้เกือบทั้งหมดขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการลงทุน รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่ขยายตัว หลังจากการเปิดท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ" นายดนุชา ระบุ

 

ส่งผลให้ทั้งปี 2565 สศช. ปรับประมาณการ GDP จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.2% เป็นขยายตัว 3.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ประเมินว่า จะขยายตัวได้ 3-4% หรือประมาณ 3.5%

สศช. แถลงตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2565

 

สำหรับรายละเอียด เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2565 มีดังนี้

 

ด้านการใช้จ่าย 

 

1.การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูง 9% เร่งขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัว 7.1% ในไตรมาสที่ 2 เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส ตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวด แยกเป็น

  • หมวดบริการขยายตัว 15.8% ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มนันทนาการและวัฒนธรรม 
  • หมวดสินค้าคงทนขยายตัว 18.2% ตามการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ 
  • หมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 3.2 ตามการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 
  • หมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 3.6% ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง และกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า 

 

2.การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลง 0.6% เทียบกับการขยายตัว 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ตามการลดลงของรายจ่ายซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคโควิด-19 

 

ส่วนค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ขยายตัว 1.6% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 21.4% (ต่ำกว่า 22.5% ในไตรมาสก่อนหน้า) 

3.การลงทุนรวม ขยายตัว 5.2% เทียบกับการลดลง 1% ในไตรมาสก่อนหน้า แยกเป็น

  1. การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง 11% เร่งขึ้นจาก 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือ 13.9% การลงทุนก่อสร้างขยายตัว 2% เทียบกับการลดลง 1.3% ในไตรมาสก่อนหน้า 
  2. การลงทุนภาครัฐลดลงต่อเนื่องไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 7.3% แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 9% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลลดลง 11.8% 
  3. การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 1.1% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 21.2%

 

ด้านภาคการค้าต่างประเทศ 

 

1.การส่งออกมีมูลค่า 71,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 6.7% ชะลอลงจากการขยายตัว 9.7% ในไตรมาสก่อนหน้า มีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ 10.3% รถกระบะและรถบรรทุก 12.8% แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน 11.6% ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า 13.6% อุปกรณ์และเครื่องมือด้านการแพทย์ 9.9% อาหารสัตว์ 22% น้ำตาล 121.4% ข้าว 12.4% และยางพารา 0.2% 
  • กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น รถยนต์นั่ง 7.2% เคมีภัณฑ์และปีโตรเคมี 8.8% ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 13.2% ผลิตภัณฑ์ยาง 8% ทุเรียน 53% และผลไม้อื่น ๆ 39.4% 
  • การส่งออกสินค้าไปยังตลาดส่งออกหลักขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกงลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 6.4% และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 18.1% 

 

2.การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 71,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 23.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 22.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 8% และ 14.1% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 17,100 ล้านบาท

 

ด้านการผลิต

 

1.สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และ การประมง ปรับตัวลดลง 2.3% ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา อุทกภัยและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่ โดย ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 17.7%

 

2.สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.3% เทียบกับการลดลง 0.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการกลับมาขยายตัวของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต

 

3.สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 53.6% และเร่งขึ้น จากการขยายตัว 44.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นของจำนวน นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศ แยกเป็น

  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 3.608 ล้านคน
  • รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 1.58 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ถึง 1,497.1%

 

4.สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น 3.5% เร่งขึ้นจาก 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

 

5.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้น 9.9% เร่งขึ้นจาก 5.2% ในไตรมาสก่อน หน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งทางอากาศ และบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง

 

เลขาธิการ สศช. แถลง GDP ไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และแนวโน้มปี 2565-2566

 

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบข้อมูล ดังนี้

  • อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.23% ต่ำกว่า 1.37% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 2.29% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% 
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ
  • หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,373,937.59 ล้านบาท คิดเป็น 60.7% ของ GDP