ผ่าดราม่า “ดารุมะ ซูชิ” เซ็ตธุรกิจเพื่อ “โกง” ตั้งแต่แรก

20 มิ.ย. 2565 | 03:58 น.

ถอดเบื้องหลังดราม่า “ดารุมะ ซูชิ” ปิดร้านเจ้าของเชิดเงินหนี ผู้เชี่ยวชาญด้าน แฟรนไชส์ ชี้ชัด บุฟเฟ่ต์ แซลมอน 199 ขาดทุนตั้งแต่แรก งานนี้ไม่เกี่ยวกับราคาวัตถุดิบ แต่เจตนาโกงตั้งแต่เริ่ม ยากที่เจ้าของจะออกมารับผิดชอบ

จากดราม่า บุฟเฟ่ต์ “ดารุมะ ซูชิ” ที่ปิดร้านปิดเพจกะทันหัน พร้อมกะแสข่าวลือว่าเจ้าของกิจการหอบเงินก้อนหนีไปต่างประเทศนั้น พร้อมลอยแพ พนักงาน แฟรนไชส์ และลูกค้า ให้เคว้งคว้าง และยังหาบทสรุปไม่ได้ นั้น
 

ผ่าดราม่า “ดารุมะ ซูชิ” เซ็ตธุรกิจเพื่อ “โกง” ตั้งแต่แรก


นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่น แนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารมอร์เก้น เรสเตอรอง แอนด์คาเฟ่ และไส้กรอกแบรนด์อีซี่ส์ ผู้คว่ำหวอดในธุรกิจ แฟรนไชส์มาอย่างยาวนานฉายภาพเบื้องหลัง ดราม่า ครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า “ดารุมะ ซูชิ ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่แรก แต่เซ็ทธุรกิจขึ้นมาเพื่อเจตนาหลอกลวงตั้งแต่เริ่ม” 

 

โดย “สุภัค” ให้เหตุผลว่า พื้นฐานธุรกิจแฟรนไชส์ “ดารุมะ ซูชิ” ไม่ได้ทำสักเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษามาตรฐานการบริหาร ข้อ 1 คือ Franchisor) WIN  Franchisee WIN ซึ่ง
“ดารุมะ ซูชิ ”เล่นเอาผลประโยชน์ไปเทไว้ที่ตัวเองทั้งหมด
 

ผ่าดราม่า “ดารุมะ ซูชิ” เซ็ตธุรกิจเพื่อ “โกง” ตั้งแต่แรก


ข้อที่ 2 “ดารุมะ ซูชิ” ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่แรก แต่ “ดารุมะ ซูชิ” ทำขึ้นมาเพื่อหวังผลหลอกลวงลูกค้า และข้อที่ 3 ก็คือการทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีไม่ควรทำโปรโมชั่นเยอะ บ่อย และแรงมากขนาดนี้ เพราะแคมเปญที่ “ดารุมะ ซูชิ” ปล่อยออกมาคือบุฟเฟ่ต์ 199 บาท ซึ่งเป็นแคมเปญที่แรงเกินไป แม้ว่าจะสร้างกระแสได้  แต่ในแง่ของการปฏิบัติทำได้ยากและเป็นการสร้างพฤติกรรมของลูกค้าที่ผิด เพราะแคมเปญไม่ได้ทำให้เกิด real customer ขึ้นมา และกลายเป็นลูกค้าที่ชอบโปรมากกว่าที่จะชอบแบรนด์และซื้อซ้ำ

 

“การออกคูปองไม่ผิดแต่ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจของการสร้างแบรนด์มากกว่าที่จะอัดโปรแบบตะบี้ตะบันขนาดนี้ เพราะฉะนั้นด้วยทรงต่างๆของ 3 เหตุผลนั้นมันเลยผิดหลักการตั้งแต่แรกในทุกๆด้าน และข้อสำคัญเรื่องที่ 4 ก็คือ Franchise relationship management เรื่องของการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างFranchisor และFranchiseeไม่มี เพราะเขาเล่นปิดเพจและหายไปแทนที่จะมานั่งอธิบายและแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะฉะนั้นอันนี้เจตนาเขาชัดว่าเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ แต่เขาตั้งใจที่จะเซ็ตธุรกิจขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินไปเป็นก้อน”
 

ผ่าดราม่า “ดารุมะ ซูชิ” เซ็ตธุรกิจเพื่อ “โกง” ตั้งแต่แรก


นอกจากนี้  ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร  ยังวิเคราะห์ต่อว่าด้วยโครงสร้างของวัตถุดิบต่อให้ปัจุบันราคาวัตถุดิบคือแซลมอนไม่ได้ขึ้นราคา ก็ไม่สามารถขายในราคา199 บาทได้ “มันเป็นแคมเปญที่ขาดทุนตั้งแต่แรกเพราะปกติแซลมอนเกรดต่ำอยู่ที่ 100 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ส่วนแซลมอนคุณภาพที่พอกินได้ราคาอย่างถูกก็ต้องมีกิโลละ 300 กว่าบาทและด้วยคนที่เป็น target group เฉลี่ยๆ 1 คนจากสถิติจะกินประมาณ 1.5 กิโลกรัม

 

 เพราะฉะนั้นโดยต้นทุนถ้าราคาแซลมอนรับมาอย่างถูกกิโลกรัมละ 120 บาทลูกค้า 1 คนทาน 1 กิโลครึ่งทุนหมดไปแล้ว 180 บาท แต่เขาคิดราคา 199 บาทแค่ถอดVAT ก็ขาดทุนแล้ว ไหนจะค่าแรงพนักงาน ค่าเช่า เพราะฉะนั้นมันก็ขาดทุนตั้งแต่แรกอยู่แล้วงานนี้ไม่เกี่ยวกับราคาวัตถุดิบ งานนี้มันอยู่ที่เขาตั้งใจโกงตั้งแต่แรกเลยจริงๆ เพราะในแง่ธุรกิจมันเป็นไปไม่ได้เลย”



แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นตกอยู่ที่คนที่ซื้อแฟรนไชส์และคนที่ซื้อคูปอง ซึ่งเกิดผลกระทบเสียหายในมุมกว้าง ขณะเดียวกันก็เกิดผลกระทบทางอ้อมคือทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งจริงๆแล้วปัจุบันธุรกิจแฟรนไชส์เป็นช่วงที่มีอัตราการเติบโตที่สูงในรอบ 30 ปี เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีช่วงไหนที่มีความต้องการในเรื่องของแฟรนไชส์มากเท่าตอนนี้มาก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจล้ม ประกอบกับการระบาดของโควิดคนที่พอมีเงินทุนจะมี 2 ทางเลือกระหว่างเป็นสตาร์ทอัพเองหรือซื้อแฟรนไชส์

 

แต่การเป็นสตาร์ทอัพ ที่ต้องสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่จะมีคู่แข่งจำนวนมาก แต่การซื้อแฟรนไชส์มีความมั่นคงมากกว่าเพราะฉะนั้น กะแสดราม่าของ“ดารุมะ ซูชิ” ทำให้ความน่าเชื่อถือของธุรกิจแฟรนไชส์น้อยลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์ ถ้ารัฐบาลออกกฎหมายในเรื่องของแฟรนไชส์ขึ้นมามันก็จะช่วยในเรื่องนี้ลงไปได้เยอะมาก แต่ปัจุบันมีเพียงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่องการป้องกันการค้าขายที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้นซึ่งโทษยัง “เบาไปหน่อย”

 

แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถเอาผิดได้ตามกฎหมายเพราะว่ามีความผิดค่อนข้างที่จะชัดเจนและเจตนาค่อนข้างที่จะชัดเจน โดยลูกค้าที่ซื้อคูปอง สามารถฟ้องร้องไปที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในแง่ของพนักงานสามารถฟ้องร้องได้ที่กรมแรงงานและในแง่ของ Franchisee เองก็ร้องได้ที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า 

 

“โอกาสที่เจ้าของจะกลับมารับผิดชอบก็อยู่ที่จิตสำนึกของผู้ประกอบการว่าตั้งใจที่จะมายอมรับผิดหรือตั้งใจที่จะหนี ก็ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของเขา แต่ถ้าดูโดยเจตนาแล้วคนที่ต้องการจะสู้ปัญหาเขาจะสู้ปัญหาตั้งแต่ day 1 เขาจะไม่ปล่อยให้กลายเป็นดราม่าเยอะๆยาวๆแบบนี้จนกระทั่งเสียแบรนด์ไป เพราะฉะนั้นด้วยเจตนา “เขาไม่น่าจะมีเจตนาที่จะออกมายอมรับผิด””

 

ทั้งนี้ดารุมะ ซูชิ เป็นกิจการร้านอาหารของบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ดำเนินธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร ร้านอาหาร มีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท

 

ปัจุบันมีสาขา 24 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีทั้งการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์ โดยระบบการประกอบการแฟรนไชส์ ราคาลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของร้านดารุมะ ซูชิ อยู่ที่ 2,500,000 บาท มีอายุสัญญา 5 ปี โดยบริษัทดารุมะ จะเป็นผู้บริหารจัดการและเป็นคนดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดเเต่เพียงผู้เดียว และจะปันผลเป็นรายเดือนให้กับผู้ลงทุน การจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัทดารุมะ ซึ่งผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ 



 

ที่ผ่านมาร้านมีจุดขาย คือการจำหน่ายเวาเชอร์รับประทานอาหารบุฟเฟต์ผ่านแอปพลิเคชั่น ล่าสุดได้จัดโปรโมชั่นในราคา 199 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไป และบัตรแต่ละใบมีอายุถึง 6 เดือน

 

ข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562,2563 และ 2564 ทางบริษัทมีกำไร ตั้งแต่ 1-1.7 ล้านบาท จากรายได้รวมปีละ 39-45 ล้านบาท

  • ปี 2562 รายได้ 39,004,873 บาท รายจ่ายรวม 37,527,541 บาท กำไร 1,004,376 บาท
  • ปี 2563 รายได้ 43,762,122 บาท รายจ่ายรวม 41,214,509 บาท กำไร 1,778,984 บาท
  • ปี 2564 รายได้ 45,621,832 บาท รายจ่ายรวม 42,237,324 บาท กำไร 1,256,609 บาท

นอกจากนี้ นายเมธา ยังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท ดารุมะ ซูชิ โก จำกัด ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลงบการเงิน