ยูเอ็น เตือน "วิกฤตอาหารโลก" ชี้ "ข้าว" จ่อคิวราคาแพงขึ้น แต่ชาวนาไม่รวย

13 มิ.ย. 2565 | 13:06 น.

ยูเอ็นเตือน "วิกฤตอาหารโลก" กระทบส่งออกวัตถุดิบ อาหารราคาแพง ด้าน สำนักงานอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) ส่งสัญญาณเตือนว่า "ข้าว" กำลังจะเป็นอาหารตัวต่อไปที่แพงขึ้น แต่ "ชาวนา" กลับไม่รู้สึกว่ารวยขึ้น เหตุต้นทุนปลูกแพงทุกทาง

ตลอดช่วงหลายเดือนมานี้ คนทั่วโลกต่างเผชิญชะตากรรมเดียวกันเรื่อง "ของแพง" เพราะราคาน้ำมันที่ถีบตัวขึ้นไปมากกว่า 120 ดอลลาร์ และราคาปุ๋ยที่พุ่งทะยานขึ้นมาก ทำให้สินค้าเสำคัญส่วนใหญ่แพงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม "อาหาร"

 

ซึ่งนอกจากต้นทุนวัตถุดิบจะแพงขึ้นแล้ว หลายประเทศยังเริ่มกักตุนอาหารโดยใช้มาตรการห้ามส่งออกสินค้าเกษตร เช่น อินโดนีเซีย ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม, อินเดีย ห้ามส่งออกข้าวสาลีและน้ำตาล, มาเลเซีย จำกัดการส่งออกไก่ และอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ทยอยกักตุนอาหารตามมาเรื่อยๆ

ล่าสุด สำนักงานอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า "ข้าว" กำลังจะเป็นอาหารตัวต่อไปที่แพงขึ้น โดยข้อมูลจากดัชนีราคาข้าว Food Rice Price Index ของ FAO พบว่า ราคาข้าวในตลาดโลกเดือน พ.ค. พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน และยังเป็นการปรับขึ้น 5 เดือนติดต่อกันแล้ว

 

ขณะเดียวกันสำนักข่าว Reuters เพิ่งรายงานว่า "ประเทศไทยและเวียดนาม" ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงกันเรื่องขึ้นราคาส่งออกข้าว โดยนายเจิ่น แทงห์ นาม (Tran Thanh Nam) รัฐมนตรีเกษตรของเวียดนาม ได้เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และมีการหารือกรอบความร่วมมือในเรื่องนี้ด้วย ขณะที่บริษัทส่งออกข้าวรายใหญ่ 4 ราย ก็เปิดเผยว่า ผู้ค้าข้าวกำลังซื้อข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์มานี้

ขณะที่เดวิด ลาบอร์ด นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ CNBC ว่า ตอนนี้กำลังน่าเป็นห่วงว่า อินเดีย อาจจะกักตุนข้าวเป็นสินค้าตัวต่อไป ถัดจากข้าวสาลีและน้ำตาล จนกลายเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะอินเดียกับจีนนั้นถือเป็น 2 ประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่เวียดนามเป็นอันดับ 5 และประเทศไทยเป็นอันดับ 6

 

แต่ในแง่ "การส่งออก" ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2 ของโลก และเวียดนามเป็นเบอร์ 3 ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 1 ใน 4 ของตลาดโลกในขณะที่อินเดียเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 มีสัดส่วนประมาณ 40% ส่วนจีนนั้นแม้จะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ แต่ผลผลิตที่ได้จะขายเพื่อบริโภคภายในประเทศมากกว่า จีนจึงเป็นผู้นำเข้าข้าวไม่ใช่ผู้ส่งออก

 

อย่างไรก็ตาม กรณีของข้าวนั้นต่างไปจากสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ที่มีการกักตุนห้ามส่งออก เพราะในกรณีที่มีผลผลิตจำนวนมาก ไม่ได้เกิดภาวะขาดแคลน ประเทศผู้ส่งออกน่าจะยิ่งกระตุ้นการส่งออกในช่วงที่ข้าวราคาแพงมากกว่าจะกักตุน และยังเป็นการช่วยชาวนาในประเทศอีกด้วย แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้ราคาข้าวในตลาดโลกจะพุ่งขึ้น แต่ "ชาวนา" กลับไม่รู้สึกว่ารวยขึ้นหรือได้อานิสงส์อะไรมากนัก เพราะเจอเรื่องต้นทุนการปลูกข้าวที่พุ่งขึ้นแบบทุกทิศทุกทาง เช่น ราคาปุ่ย

 

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยผ่าน Bloomberg ว่า การจะกำหนดราคาในตลาดโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไทยและเวียดนามไม่ใช่แค่ 2 ประเทศที่ส่งออกข้าว และยังมีเรื่องของคุณภาพข้าวที่ต้องรีบขายหลังเก็บเกี่ยว เพื่อคงคุณภาพและราคาเอาไว้ให้ได้ด้วย ดังนั้น สิ่งที่ไทยร่วมมือกับเวียดนามจึงควรเป็นเรื่องการพัฒนาการผลิตและการแลกเปลี่ยนโนว์ฮาวระหว่างกันมากกว่า