รมว.ท่องเที่ยว ชง “ศบค.” ยกเลิก "thailand pass" เริ่ม 1 มิ.ย. 65

24 มี.ค. 2565 | 19:00 น.

รมว.ท่องเที่ยว จ่อชง “ศบค.” ยกเลิก"ไทยแลนด์ พาส" เริ่ม 1 มิ.ย. 65 หวังดันการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับสู่ช่วงปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบการปรับมาตรการรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ โดยกำหนดให้เหลือเฉพาะการตรวจผ่านวิธี RT-PCR ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วเท่านั้น และตรวจครั้งที่ 2 ผ่านวิธีเอทีเค ในวันที่ 5 จากเดิมที่กำหนดให้ตรวจหาเชื้อ 3 ครั้งทั้งก่อนเข้าและหลังเข้าประเทศแล้ว 

 

จากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอต่อที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ในช่วงเดือนเมษายนนี้ หรือพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปก่อน เพื่อขอประเมินสถานการณ์การระบาดโควิด-19 หลังสงกรานต์2565 อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องไม่มีการกระเพื่อมของยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตที่รุนแรง สามารถรักษาระดับยอดผู้ติดเชื้อไว้ไม่เกิน 50,000-60,000 คนต่อวันได้ นับเฉพาะยอดที่รวมผลตรวatk เป็นบวกเท่านั้น และมียอดผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 คนต่อวัน 

หากเป็นไปตามเงื่อนไข จะขอให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึงไทย และเปลี่ยนมาใช้วิธีการตรวจ ATKจากสถานพยาบาลรับรองผลการตรวจแทน ในวันที่ 5 เมื่อผลตรวจเป็นลบ จึงจะสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565

 

รวมถึงจะเสนอให้มีการยกเลิกระบบไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass) เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือช่วงปี 2562 โดยคาดหวังว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งตามหลักการแล้วควรจะไม่ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่โดยส่วนตัวมองว่า เพื่อความอุ่นใจของคนไทย ควรคงการตรวจหาเชื้อผ่านเอทีเคในวันแรกที่เดินทางมาถึงไว้ก่อน แต่จะข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

 

อย่างไรนั้นคงต้องรอทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง โดยเป้าหมายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยคือ การก้าวเป็นผู้นำท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดหวังว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน และมีการฟื้นตัวด้านรายได้การท่องเที่ยวของปี 2565 อยู่ที่ 30% เทียบกับรายได้การท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ส่วนในปี 2566 รายได้ฟื้นตัว 50% และในปี 2567 รายได้ฟื้นตัว 100% หรือเทียบเท่าปี 2562

ก่อนจะถึงช่วงฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ระหว่างนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอล เนื่องจากไม่สามารถทำแบบที่เคยทำมาได้แล้ว หากเรายังเดินช้าๆ หรือไม่เดินเลย เพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลา อันนี้คงไม่สามารถทำได้ รวมถึงการก้าวตามเทรนด์ใหม่ๆ ที่การระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาดิสรัปพฤติกรรมการท่องเที่ยว

 

อาทิ เทรนด์ทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วยหรือ Workation รวมถึงปรับตัวด้านการใช้เทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่ยุค 5.0 โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะขอหารือกับนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดอบรมสัมมนาบุคลากรท่องเที่ยวสู่ยุค 5.0 และปลดล็อกมาตรการเดินทางเพื่อเปิดประเทศ 

 

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการ ท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า หากเดือนมิถุนายนนี้ รัฐบาลสามารถปลดล็อกมาตรการเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะการยกเลิกระบบไทยแลนด์ พาส และ test and go ได้ ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของภาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากหากทำได้จะเป็นปัจจัยบวกแน่นอน เพราะจะสนับสนุนให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อื่นๆ ในโลกด้วย 

 

หากประเมินขณะนี้เห็นหลายประเทศมีความผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นไปในทิศทางทีดี โดยมองว่าการเริ่มต้นกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือปี 2562 ภายในเดือนมิถุนายน 2565 ถือว่าเป็นขั้นเป็นตอน คงไม่ได้ช้าเกินไปนัก เพราะทุกวันนี้หากจะให้เร็วกว่านี้ก็อาจลำบาก เนื่องจากพิจารณาประเทศอื่นๆ ก็เห็นว่ามีบางประเทศยังไม่พร้อม ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ รวมถึงแม้เปิดได้แล้วก็ยังไม่มีการเดินทางท่องเที่ยวมากนัก

 

โดยหากในเดือนมิถุนายนนี้ สามารถยกเลิก Thailand pass และ test & go ได้ แอตต้าพร้อมดูแลและให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาผ่านบริษัททัวร์ที่เป็นสมาชิกของแอตต้า รวมถึงเดิมที่เสนอขอเป็นผู้ให้บริการตรวจ atk ในสนามบิน ส่วนนี้ยังต้องการผลักดันต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ทั้งมาผ่านทัวร์ที่เป็นสมาชิกของแอตต้า และมาท่องเที่ยวด้วยตัวเองด้วย

 

สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงครึ่งหลังของปี 2565 น่าจะมีโอกาสเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น แต่คงยังไม่ได่เห็นกราฟพุ่งทะยานขนาดนั้น เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวหลักๆ ยังไม่สามารถเข้ามาเที่ยวไทยได้ โดยเฉพาะจีน ซึ่งนอกจากนี้จีนแล้ว ประเทศที่เข้ามาเที่ยวไทยผ่านแอตต้ามากสุด ได้แก่ รัสเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย โดยระยะหลังจะเห็นอินเดียเข้ามาเที่ยวไทยสูงมาก ส่วนจีนยังไม่สามารถคาดหวังได้ รวมถึงรัสเซีย ที่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามระหว่างยูเครน ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ เกี่ยวเนื่องกับจิตวิทยาในการเดินทางท่องเที่ยวด้วย นายศิษฎิวัชร กล่าวทิ้งท้าย