‘บิ๊กสตาร์’ จับมือลิเวอร์พูล อัพเกรด “GAMBOL” ลุยตลาดโลกโกยรายได้ 6 พันล้าน

20 มี.ค. 2565 | 22:33 น.

เปิดพันธกิจ Gen 2 “บิ๊กสตาร์” คว้าลิขสิทธิ์ลิเวอร์พูล อัพเกรดแบรนด์ GAMBOL สู่พรีเมี่ยม สยายปีกตลาด CLMV ก่อนลุยตลาดโลกทั้งแอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง วาดเป้า 10 ปีโกยรายได้ทะลุ 5,000-6,000 ล้านบาท

นายนิติ กิจกำจาย ผู้อำนวยการ บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าลำลอง แบรนด์ “แกมโบล” (GAMBOL) และ “คาเนีย” (CANIA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บิ๊กสตาร์ ซึ่งเป็นแบรนด์รองเท้าลำลองสัญชาติไทยแท้ ต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยในปีนี้เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นเป็นลำดับพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

 

วันนี้บิ๊กสตาร์พร้อมเดินหน้ารุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5-10 ปี ที่ได้จัดวางไว้ ทั้งในด้านการตลาดและการผลิต โดยตลาดในประเทศ บริษัทจะสร้างแบรนด์แกมโบลให้มีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นแบรนด์พรีเมียมแมส สำหรับกลุ่มลูกค้าบีบวกขึ้นไป

นิติ กิจกำจาย

เริ่มจากการจับมือกับสโสรฟุตบอลลิเวอร์พูล เอฟซี (Liverpool FC) ซื้อไลเซ่นส์ตราสัญลักษณ์มาใช้ด้วยระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเปิดตัวคอลเลคชั่นลิมิตเต็ด อีดิชั่น GAMBOL Liverpool FC Limited Edition เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจึงเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่อีก 4 รูปแบบ จำนวน 1.2 หมื่นคู่ วางจำหน่ายในวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา

 

“ปีนี้ถือเป็นปีที่แกมโบลจะเดินหน้าด้านการตลาดแบบฟูลสเกล หลังจากที่ชะลอไปในช่วงก่อนหน้าจากวิกฤติโควิด โดยเริ่มตั้งแต่การจับมือกับโพโรโระ เปิดตัวคอลเลกชั่น GAMBOL x PORORO รองเท้าลำลองสำหรับเด็ก ซึ่งได้รับผลตอบรับดีในระดับหนึ่ง

บิ๊กสตาร์

ตามด้วยการเปิดพรีออเดอร์ คอลเลคชั่น GAMBOL Liverpool FC Limited Edition ลิขสิทธิ์แท้จากหงส์แดงจำนวน 1,892 คู่ ซึ่งยอดจองหมดภายในเวลา 30 นาที ทำให้มั่นใจว่าคอลเลคชั่นใหม่ของลิเวอร์พูลจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแผนจับมือกับดราก้อนบอล เปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ในเร็วๆ นี้ด้วย” นายนิติ กล่าวและว่า

 

ลิเวอร์พูลถือเป็นสโมสรกีฬาต่างประเทศแห่งแรกที่บริษัทเข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เล่นกีฬามากขึ้น ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งลิเวอร์พูลจะช่วยสร้างอิมเมจของแบรนด์แกมโบลให้เป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับความนิยมอย่างมาก ขณะที่แกมโบลรุ่นที่ได้รับความนิยมมากสุดได้แก่ รุ่น GM11267 และGW 11267 ซึ่งปัจจุบันมียอดขายรวมกันเกือบ 4 ล้านคู่

 

ด้านการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบเม็ดพลาสติก (PE) ที่ปัจจุบันมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 130 บาทต่อกก. จากเดิมในช่วงต้นปี 2564 ที่มีราคา 70 บาทต่อกก. รวมถึงต้นทุนอื่นๆที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 10% บริษัทจึงต้องปรับราคาสินค้าขึ้น 5% ในปีก่อน

 

พร้อมกับหันมาบริหารจัดการภายในโรงงาน เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานให้มากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุน นอกจากนี้บริษัทมีแนวคิดในการนำหุ่นยนต์หรือโรบอตเข้ามาช่วยในการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน โดยเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมพัฒนาและสร้างหุ่นยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยคาดว่าจะเริ่มต้นใช้ได้จริงในต้นปี 2566

GAMBOL Liverpool FC Limited Edition

นอกจากนี้บริษัทยังนำวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการผลิตมาพัฒนาเป็นยางปูบนลู่วิ่ง, ยางปูสวนสาธารณะ เสื่อโยคะ ฯลฯ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท รวมทั้งการสร้างแบรนด์ “คาเนีย” ให้เป็นรองเท้าลำลองสำหรับผู้ใหญ่ ที่เน้นใส่สะดวก สบายด้วย

 

สำหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีส่งออกไปจำหน่ายทั้งใน CLMV ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม แต่จากวิกฤติโควิดในปีที่ผ่านมาจึงชะลอการทำตลาดในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมียอดขายดีและเติบโตอย่างมาก ดังนั้นในปีนี้บริษัทจะกลับไปทำตลาดในกัมพูชาเต็มรูปแบบอีกครั้งโดยเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างพร้อมจับมือกับตัวแทนจำหน่ายทำโฆษณา สื่อสารการขายและโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายมากขึ้น

 

“CLMV ถือเป็นตลาดที่สำคัญของแกมโบล ซึ่งก่อนโควิดมีการเติบโตมาก แต่เมื่อเกิดโควิดทำให้หลายอย่างปรับเปลี่ยนไป บริษัทจึงต้องกลับมาวางแผนการทำตลาดใหม่ โดยกัมพูชาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ขณะที่เวียดนามก็เป็นตลาดที่ดีแต่เมื่อเผชิญกับโควิดทำให้ต้องมารีวิวแผนการทำตลาดแบบรายไตรมาส ส่วนเมียนมายังต้องรอดูสถานการณ์การเมืองและโควิด”

GAMBOL X Liverpool

นายนิติ กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนขยายตลาดส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ สภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาหาตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งขยายตลาดไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ยูเครน และรัสเซียแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งตลาดอเมริกาใต้ แต่ยังต้องศึกษาเรื่องของราคาว่าจะสามารถแข่งขันได้หรือไม่

 

อย่างไรก็ดี สำหรับแผนลงทุนในระยะยาว 10 ปี บริษัทจำเป็นต้องมองหาฐานการผลิตใหม่เพื่อรองรับการขยายตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การผลิตในไทยยังมีต้นทุนค่าแรงที่สูง เมื่อเทียบกับจีนหรือเวียดนาม ซึ่งการลงทุนในจีนต้องหาพันธมิตรและมีการแข่งขันสูง ขณะที่เวียดนามถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีโอกาสเติบโต และสามารถเป็นฐานการผลิตที่ดีได้ในอนาคต

 

สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปี 2563 แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อลดลง ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2565-2569) บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ 2,500-3,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 5,000- 6,000 ล้านบาทใน 10 ปีนับจากนี้

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,767 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2565