‘วัลยา จิราธิวัฒน์’ กับเป้าหมายใหม่ Mixed-use Development

27 ก.พ. 2565 | 06:55 น.

เปิดใจ “วัลยา จิราธิวัฒน์” CEO หญิงคนแรกของซีพีเอ็นกับเป้าหมายการก้าวขึ้นเป็นผู้นำ Mixed-use Development ความท้าทายใหม่กับแผนลงทุน 1.2 แสนล้านใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งศูนย์การค้า เรสซิเดนท์เชียล ออฟฟิศบิวดิ้ง และโรงแรม

ภาพของ “เซ็นทรัลพัฒนา” หนึ่งในกลุ่มธุรกิจของเซ็นทรัล กรุ๊ป ตลอด 40ปี ที่ผ่านมาคือบทบาทการเป็นผู้พัฒนาและบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แต่วันนี้บริบทของเซ็นทรัลพัฒนากำลังเปลี่ยนแปลงไป ก้าวใหม่ ภายใต้พันธกิจใหม่ และ CEO คนใหม่ “วัลยา จิราธิวัฒน์” CEO หญิงคนแรก กับการขับเคลื่อนองค์กรโลดแล่นในโลกอสังหาริมทรัพย์อันกว้างใหญ่ จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ

 

“วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น เล่าให้ฟังถึงบทบาทใหม่ กับการเป็นผู้เล่นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมที่บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล กับการก้าวสู่ธุรกิจเรสซิเดนท์เชียล ออฟฟิศบิวดิ้ง และโรงแรมว่า เส้นทางของซีพีเอ็นเดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้คน ภาพใต้ภาพจำ Center of Life ศูนย์กลางการใช้ชีวิต มาตลอด 40 ปี

เซ็นทรัลพัฒนา

จนถึงวันนี้ บทบาทของ “ซีพีเอ็น” กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ “Place Maker” นักพัฒนาที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทุกแห่ง สร้างพื้นที่ที่จะเป็นอนาคตที่ดีให้กับทุกคน เชื่อมโยง 2 P คือ “People” ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมและสร้างการเปลี่ยนเปลงและ “Planet” สิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ เข้ามาอยู่ใน Sustainable Ecosystem ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

 

“Brand Commitment for Better Futures” มุ่งมั่นสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีให้กับผู้คน สังคม และโลกของเรา ตอกย้ำการเป็นบริษัทยั่งยืนในระดับโลก เริ่มต้นด้วย Brand Identity ใหม่ทั้ง Corporate และศูนย์การค้าทั่วประเทศ สะท้อนอัตลักษณ์ความภูมิใจท้องถิ่น และแตกต่างโมเดิร์นได้แนวคิดจากเอเจนซี่ด้านดีไซน์ระดับโลก

 

เป้าหมายการลงทุนของซีพีเอ็นใน 5 ปีนับจากนี้ (ปี 2565-2569) ซีพีเอ็นจะใช้เงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ในการเดินหน้าลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัล, ที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม

เซ็นทรัลพัฒนา

“การลงทุนของซีพีเอ็นเรามองถึงอนาคต 10 ปี 20 ปี โดยทุกๆ โครงการจะมีการวางแผนและใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีในการพัฒนา สำหรับแผนลงทุนในวันนี้เป็นการลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลต่อกระแสเงินสด และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา แผนงานที่วางไว้มีปรับเปลี่ยนบ้าง แต่ก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง”

 

ขณะที่พอร์ตธุรกิจหลักของซีพีเอ็น ยังคงเป็นธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งเดิมธุรกิจรีเทล ทำรายได้ในสัดส่วน 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นธุรกิจอื่นๆ แต่ในอนาคตอีก 5 ปี ข้างหน้า กลุ่มธุรกิจรีเทล จะยังคงเป็น Retail-Led Mixed-use development (ศูนย์การค้าเป็นตัวนำ) ในสัดส่วน 70% และอีก 30% เป็นกลุ่มธุรกิจอื่น

 

“ศูนย์การค้ายังเป็นหัวใจสำคัญ โดยเร่งขยายการเติบโตของทุกๆ ธุรกิจพร้อมกันไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดจะเชื่อมโยงยกระดับการใช้ชีวิตทุกรูปแบบทั้ง shop-work-stay-play-live ด้วยโครงการรีเทลที่เติมเต็มทุกฟอร์แมตและเทรนด์ใหม่ๆ โครงการที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ในเครือเพื่อลูกบ้านเซ็นทรัล พร้อมเชื่อมต่อออฟฟิศให้เป็นสถานที่ที่ทำงานที่ดีที่สุดเพราะใกล้ศูนย์การค้าและโรงแรม รวมถึงปั้นโรงแรมแบรนด์น้องใหม่ เพื่อยกระดับทำให้ทุกเมืองเป็นเมืองท่องเที่ยว”

 

“วัลยา” กล่าวอีกว่า เรารีโฟกัสในสิ่งที่เซ็นทรัลทำได้ดี ในทุกธุรกิจก่อนหน้า โดยช้อปปิ้งมอลล์ ยังเป็นแกนสำคัญ ที่จะเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งเรสซิเดนท์เชียล ออฟฟิตบิวดิ้ง และโรงแรม โดยยึดทำเล (Location) และความต้องการของลูกค้าในย่านนั้นเป็นหลัก

ลา วิลล่า อารีย์

ขณะที่โครงการใหม่ จะเน้นการลงทุนเฉลี่ย 2-3 ศูนย์ต่อปี ซึ่งในปีนี้ปลายเดือนมกราคม 2565 เปิดโครงการใหม่ไปแล้วคือ เซ็นทรัล วิลเลจ เฟส 2 และในกลางปีจะเปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี ขณะที่เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การรีโนเวทศูนย์การค้าให้ทันสมัย ตอบรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ

 

“อีกสิ่งหนึ่งที่จะเห็นต่อไปคือ ชื่อของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่ต่อไปไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้ารูปแบบใด ก็จะเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัล ทั้งหมด ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า หรือเซ็นทรัล เฟสติวัล ทุกศูนย์การค้าก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเซ็นทรัล กรุ๊ป จะเรียกอะไรเราก็คือ เซ็นทรัล”

เอสพลานาด รัชดา

การเดินหน้าภายใต้ 3 กลยุทธ์เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน จึงเดินหน้าทั้งกลยุทธ์ SYNERGY for new solutions ผนึกกำลังทุกฝ่าย สร้างแพลตฟอร์มยกระดับการใช้ชีวิตและธุรกิจอย่างครบวงจร, กลยุทธ์ PIONEER for better lives สร้างมาตรฐานใหม่ของพื้นที่แห่งการใช้ชีวิตที่ดีในอนาคต

 

ต่อไปนี้ภายในทุกโครงการใหม่ของเซ็นทรัลพัฒนาจะมีการบริหารจัดการที่ใส่ใจหัวใจสำคัญ 2 ด้านเพื่อการใช้ชีวิตของทุกคนอย่างยั่งยืน ได้แก่ Green & Energy , Health & Wellness เป็นต้น และกลยุทธ์ OPPORTUNITIES with Purpose ขับเคลื่อนสังคมและธุรกิจ เปิดโอกาสให้ทุกคน เป็นองค์กรแห่งการสร้าง ‘โอกาส’ พัฒนาคน พัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ และยกระดับวงการอสังหาฯ และรีเทลของไทย

 

ผลงานของ “ซีพีเอ็น” กับการสร้างยอดขายในปี 2564 ที่ทำรายได้ 28,977 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,148 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สวยงาม ภายใต้การระบาดของโควิด-19 ย่อมเป็นบทพิสูจน์ถึงฝีมือของทีมผู้บริหารที่พร้อมพิชิตเบอร์ 1 ในโลกของ Mixed-use Development ที่ต้องจับตาดูต่อไป

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,761 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2565