ธุรกิจอาหาร เดินหน้าปฏิบัติการ Net Zero Emission

18 ก.พ. 2565 | 04:42 น.

Climate Change วาระร้อนที่ภาคอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนโมเดล BCG รวมถึงในธุรกิจอาหาร

ประเด็น Climate Change กลายเป็นวาระระดับโลกและบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องให้ความสําคัญกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (BCG Economy)  รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)  กลายเป็นคำคุ้นหูขึ้นมาทันที เมื่ออุตสาหกรรมอาหารที่เปรียบเสมือนผู้ร้ายที่ก่อให้เกิด Climate Change นำมาใช้เป็นเครื่องมือ “สร้างภาพจำ” ความเป็นแบรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม

 

Krungthai COMPASS ประเมินว่าสาเหตุที่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารต้องปรับตัวเข้าสู่ Low Carbon Society อย่างเลี่ยงไม่ได้ มาจากการที่ผู้บริโภค เชื่อฝังหัวไปแล้วว่า กระบวนการผลิตอาหารกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเลือกซื้ออาหารที่มีส่วนในการรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การปลูก/เลี้ยงสัตว์ โรงงานผลิต บรรจุภัณฑ์ แถมยังสนับสนุนให้มีการบังคับให้ผู้ผลิตติดฉลากแสดงอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนบนผลิตภัณฑ์อาหาร เช่นเดียวกับที่แสดง ปริมาณน้ำตาลและเกลือในส่วนประกอบของอาหารเลยทีเดียว นั่นหมายความว่า แบรนด์ที่ไม่เคลมว่าตัวเอง “รักษ์โลก” จะไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้บริโภคอีกต่อไป

Net Zero Emission

นอกจากนี้ FA0 ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่ าไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาค การเกษตรและผลิตอาหารเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยการเพาะปลูกข้าว" ปล่อย ก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ส่วนการเลี้ยงปศุสัตว์ก็ไม่น้อยหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 20.7% สูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม ทำให้เห็นได้ชัดว่าไทยกำลังตกที่นั่งลำบากและ “Net Zero” กลายเป็นไฟลท์บังคับใหม่ของอุตสาหกรรม อาหาร ที่แม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกก็ไม่อาจทำเป็นนิ่งเฉย

 

วันนี้จึงเห็นบิ๊กเนมในอุตสาหกรรมอาหารลุกขึ้น แสดงความพยายามลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ตลอดซัพพลายเชนอย่างจริงจัง อาทิ Nestle ที่ตั้งเป้าลด CO2 ให้ได้ 50% ในปี 2030 และลด CO2 เป็นศูนย์ในปี 2050 ขณะที่ PepsiCo ตั้งเป้าลด CO2 ให้ได้40% ในปี 2030 และลด CO2 เป็นศูนย์ในปี 2040 ตามมาด้วยผู้ผลิตอาหารการเกษตร Cargill ตั้งเป้าลด CO2 ให้ได้ 30% ในปี 2030 ทางด้านผู้แปรรูปอาหารและเนื้อสัตว์อย่าง Tyson ตั้งเป้าลด CO2 เป็นศูนย์ในปี 2050 รวมไปถึง Danone ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ ตั้งเป้าลด CO2 ให้ได้50% ในปี2030 และลด CO2 เป็นศูนย์ในปี 2050 เช่นกัน

 

ส่วนแบรนด์ไทยเอง หลายแบรนด์เริ่มขยับตัวมากขึ้น เช่น “เอส แอนด์ พี” ที่ล่าสุดขยายพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เฟส 2 ขนาดรวม 997.5 กิโลวัตต์ บนพื้นที่ของหลังคาโรงงานขนาด 4,990 ตารางเมตร ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1.35 ล้านหน่วย คิดเป็นสัดส่วน 35-40% จากอัตราการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 

Net Zero Emission

“กำธร ศิลาอ่อน” กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท เล่าว่า เอส แอนด์ พี มุ่งมั่นในการยกระดับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมการผลิตเบเกอรี่รักษ์โลกจากพลังงานทางเลือก ด้วยเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์

 

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน ก่อนหน้านี้ในปี 2559 เอส แอนด์ พี ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เฟส 1 ขนาด 510 กิโลวัตต์ บนพื้นที่ของหลังคาโรงงานขนาด 2,700 ตร.ม. เพื่อใช้ในสายการผลิตเบเกอรี่ 3,942 ตัน ด้วยกำลังไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 4.05 ล้านหน่วย

 

และอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามไม่แพ้กันและน่าจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคตอันใกล้คือ และเป็นอีกช่องทางโกยเงินเข้ากระเป๋าของผู้ประกอบการที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจการได้ โดยสามารถยื่นนําเสนอโครงการเพื่อขึ้นทะเบียนในโครงการ T-VERS/ และจะได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนํา คาร์บอนเครดิตนี้ไปขายเพื่อสร้างรายได้ในตลาดคาร์บอนได้

 

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เช่นหนึ่งในผู้เล่นธุรกิจเกษตรและอาหารที่ขอขึ้นทะเบียนในโครงการ T-VER แล้วบางส่วน เช่น บริษัท มิตรผล ที่จัดทําโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ได้แก่ ชานอ้อย โดยใช้ส่วนที่เหลือจากการผลิตน้ําตาลมิตรผล ปัจจุบันมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง แล้วรวม 1.4 ล้านตัน C02eq รวมทั้งขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 5 แสนตัน

 

ภาพรวม Net Zero Emission ในเมืองไทยนับว่าเติบโตก้าวกระโดดทั้งในมุมพฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจรวมไปถึงภาครัฐที่เร่งสปีด Net Zero Emission ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนมิติใหม่องค์กรใดจะบรรลุ CO2 เป็นศูนย์ ก่อนกัน คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าเมื่อแบรนด์ใหญ่ลงมาเล่นคงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน