ทำอย่างไรจะลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์

03 ก.พ. 2565 | 10:32 น.

“Net Zero” ห่วงโซ่อุตสาหกรรม ลดก๊าชเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2065 ภาคปศุสัตว์ไทย เตรียมพร้อม อย่างไร รับ ฟังคำตอบได้ ในวันที่ 9 ก.พ.นี้

นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ปัจจุบันประเทศคู่ค้าในยุโรปเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าแล้ว และคาดในอนาคตฉลากและภาษีคาร์บอนจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยได้ (อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดห่วงโซ่ของไทย และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์มีมูลค่ารวมประมาณ1.07 ล้านล้านบาทต่อปี) ขณะเดียวกันในอนาคตไทยจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าเช่นกัน ดังนั้น ต้องเร่งเตรียมตัวได้แล้ว

 

"เพื่อให้เป็นรูปธรรมทางสมาคมและเครือข่าย จึงได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ "การลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุส้ตว์ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีเป้าหมายในการแก้ไขและรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายใน ค.ศ. 2065 ในวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 - 16.30 น. "

 

ภายในงานได้จัดงานสัมมนา “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ : การลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์” ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ zoom เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต

 

ร่วมหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายสัตวแพทย์ ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต(ฝ่ายเกษตร)และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึง “แนวโน้มความต้องการสินค้าปศุสัตว์ในอนาคตและมาตรการการค้าในสหภาพยุโรป”

 

นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “ความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจปศุสัตว์ไทย”โดย ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) “บทบาทและแนวทางของกรมปศุสัตว์ในการส่งเสริมปศุสัตว์สีเขียว”

 

 

โดย นายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์ และ “ศักยภาพของ มจธ. ในการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์” โดย ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และรศ. ดร.ธภัทร ศิลาเลิศรักษา ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.

 

ทำอย่างไรจะลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์