ผู้บริหารเอกชนเห็นด้วยเป้า "Carbon Neutrality"-"Net Zero"

22 ธ.ค. 2564 | 05:51 น.

ผู้บริหารเอกชนเห็นด้วยเป้า Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และ Net Zero ปี 2608 ชี้อยู่ระหว่างศึกษาการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 13 ในเดือนธันวาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “พร้อมหรือไม่? กับเป้าหมาย Net Zero” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. เห็นด้วยกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ทั้งนี้ มองว่าการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและการจัดหาพลังงานสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล จะเป็นประเด็นท้าทายของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้ ระเบียบวิธีการที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประกอบด้วย
1. ภาคอุตสาหกรรมมีความเห็นอย่างไรกับเป้าหมายของประเทศ ในการเป็น Carbon Neutrality ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และ Net Zero ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608)
พบว่า เห็นด้วย 70.7% ,ควรขยายเป้าหมายออกไปอีก 5 – 10 ปี 16.2% และควรปรับเป้าหมายให้เร็วขึ้น 13.1%
2. ภาคอุตสาหกรรมมีความพร้อมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตหรือไม่ เพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ Carbon Neutrality
พบว่า อยู่ระหว่างศึกษา 72.5% ,มีความพร้อมดำเนินการได้ทันที 17.5% และยังไม่มีความพร้อม 10.0%
3. ปัจจัยใดจะช่วยส่งเสริมให้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการเป็น Carbon Neutrality
พบว่า ระเบียบวิธีการที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศและไม่ซับซ้อน 73.1% ,มาตรการหรือสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เช่น มาตรการด้านการเงิน 72.5% ,การพัฒนากลไกตลาดและมาตรฐานการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล 68.1% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอยู่ในระดับที่เหมาะสม 66.9%

4. ประเด็นท้าทายของไทยในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
พบว่า การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และการจัดหาพลังงานสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล 75.0% ,นโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการจูงใจที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 72.5% ,เทคโนโลยี/นวัตกรรมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเทคโนโลยีกักเก็บและการนำคาร์บอนไปใช้ประโยชน์ (CCUS) ที่มีราคาเหมาะสม 66.9% และการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักของผู้บริโภคเพื่อให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 62.5%

FTI Poll ครั้งที่ 13
5. ภาคส่วนใดที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero
พบว่า ภาคพลังงานและขนส่ง 50.0% ,ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 29.4% ,ภาคการจัดการของเสีย 11.3% และภาคเกษตรกรรม 9.3%
6. ภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวมากน้อยเพียงใด จากเป้าหมาย Net Zero
พบว่า ต้องปรับตัวเพราะเป็นโอกาสทางธุรกิจ 55.0% ,ต้องปรับตัวบ้าง 24.4% และต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง 20.6%
7. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อการปฏิบัติตามมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเรื่องใด
พบว่า กฎระเบียบใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ 68.8% และต้นทุนทางการเงินในการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อย GHG และราคาพลังงานทดแทนอาจสูงขึ้น 68.8% ,มาตรการและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น CBAM, การติดฉลากคาร์บอน 59.4% และมาตรฐานการคำนวณและรับรองคาร์บอนเครดิตที่มีความแตกต่างกัน 51.2%