ทำธุรกิจอะไรให้ ‘วัยเกษียณ’ ยอมควักจ่ายเพื่อ ‘สุข’ บั้นปลาย

06 ก.พ. 2565 | 06:32 น.

เทรนด์ธุรกิจมาแรงรับ “วัยเกษียณ” ชี้ 18% มีกำลังซื้อสูง รายได้เฉลี่ย 1-3 แสนต่อเดือน พร้อมจ่ายทั้งอุปกรณ์ดูแล/ฟื้นฟูผู้สูงวัย หุ่นยนต์ผู้ช่วยส่วนตัว อาหาร/อาหารเสริม สินค้าความงาม เพื่อมีความสุขและสุขภาพดีในช่วงบั้นปลายชีวิตแบบ New Normal

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดหรือมีผู้สูงอายุมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2574 ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ

 

รายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุหรือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 11.13 ล้านคน คิดเป็น 16.73% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน ขณะที่มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุพุ่งสูงขึ้นเป็น 107,000 ล้านบาทและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5-10% ต่อปี

 

ผู้สูงอายุให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่การดูแลสุขภาพ (Health), การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย (Living Environment), ให้ความสำคัญกับโภชนาการอาหาร (Food), และมีความสนใจในการใช้เทคโนโลยี (Technology) มากขึ้น

วัยเกษียณ

กลุ่มผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงโดยมีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 1- 3 แสนบาทต่อเดือนกว่า 17.9% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายที่ผู้สูงอายุชาวต่างชาติต้องการเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตหลังเกษียน Retirement Country ในปี 2563 มีผู้สูงอายุต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี

 

สำหรับผู้มีเงินฝากไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยกว่า 9 หมื่นคน เติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน การขยายตัวของสังคมสูงอายุจึงเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ

 

รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโต แต่ยังไม่เพียงพอและไม่ทันกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมาก อายุยืนยาวขึ้นแต่อัตราการเสียชีวิตช้าลง ซึ่งหากตลาดเติบโตไม่ทัน สิ่งที่ตามมาคือผู้สูงอายุต้องพึ่งพาลูกหลานเหมือนเดิม ดังนั้นการช่วยให้ผู้สูงอายุความสามารถพึ่งพาตัวเองให้นานที่สุดหรือใช้ชีวิต Active Aging ตามแนวคิดขององค์การอนามัยโลกเป็นเรื่องสำคัญ

รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์

งานวิจัยในยุคหลังจึงหันมาให้ความสนใจกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุตามลำพังมากขึ้น และเน้นไปที่การประดิษฐ์เทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง เช่น การเปลี่ยนบ้านให้เป็น smart home การผลิตเทคโนโลยีขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน และการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ผู้สูงอายุสามารถจัดการได้เอง

 

ขณะที่นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันหลายครัวเรือนมีพ่อแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณหรือมีผู้สูงอายุในบ้างซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดในการดูแลอยู่บ้าง ดังนั้นสินค้านวัตกรรมและบริการเพื่อผู้สูงอายุในวิถีถัดไป หรือ Next Normal ที่ตอบโจทย์ “ผู้สูงอายุในถิ่น” Aging In-place จึงมีความสำคัญในการช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านของตัวเองได้

 

โดยเฉพาะในธุรกิจสำหรับวัยเกษียณ 5 ประเภท ได้แก่

 

1. อุปกรณ์เพื่อดูแลผู้สูงอายุและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ อาทิ เตียงนอนอัจฉริยะ สำหรับผู้ป่วยติดเตียง, BrainPlus อุปกรณ์สำหรับฟื้นฟูสมอง, Wheelchair ยืนได้ และนวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้าย เป็นต้น

 

2. ธุรกิจบริการรองรับผู้สูงอายุ อาทิ โครงการที่พักสำหรับผู้สูงอายุพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

วัยเกษียณ

3. สินค้าไลฟ์สไตล์ อาทิ หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว, สินค้ากลุ่ม IT เป็นต้น

 

4. อาหารและอาหารเสริมเพื่อผู้สูงอายุและผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ อาทิ อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบาก, เป็นต้น

 

5. สินค้าเพื่อความงาม อาทิ โลชั่นบำรุงผิว เพราะผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับอาการผิวแห้งคัน หากผิวไม่ได้รับการบำรุงอาการจะยิ่งแย่ลง ซึ่งก็เริ่มเป็นเทรนด์ในต่างประเทศ เช่น จีน กลุ่มผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหน้าผิวกายมากขึ้น ยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าบำรุงผิวในราคาที่แพงเพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการ

 

“ต่อไปผู้สูงอายุจะดูแลตัวเองและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น มีสังคมที่ดี มีสวัสดิการ โดยนำสินค้าและบริการต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดี Next Normal ของคนไทยจะเปลี่ยนไป เราจะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาทำให้ชีวิตคนไทยง่ายขึ้น”

 

ด้านนางสุนทรี จรรโลงบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ TM กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในไตรมาส 1 นี้บริษัทมีแผนจ้างผลิต (OEM) ภายใต้แบรนด์ TM อาทิ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เช็ดตัวสำหรับผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และผ้าอ้อมผู้สูงอายุ ฯลฯ

 

รวมทั้งเพิ่มไลน์ธุรกิจด้วยการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลเฉพาะทางในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้โครงการ THE PARENTS ซึ่งปัจจุบันได้เปิดศูนย์อบรมการบริบาลผู้สูงอายุรองรับการอบรมได้ 160 คนต่อปี ในส่วนของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้และสามารถเปิดให้บริการในเฟสแรกได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้

 

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางขนาด 150 เตียง เพื่อรับดูแลผู้สูงอายุทุกภาวะและโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น การกายภาพฟื้นฟู, การดูแลผู้สูงอายุ และดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตามแผนในช่วงต้นปี 2565 และแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบภายในปี 2566 ซึ่งประกอบด้วยอาคาร Nursing Home และอาคาร Rehabilitation Hospital

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565