ไทยเบฟฯ ปั้นโมเดลใหม่ ‘โออิชิ-KFC’ รุกธุรกิจอาหาร ปี 65

25 ธ.ค. 2564 | 06:18 น.

ไทยเบฟฯ ปรับทัพธุรกิจอาหาร ปั้นโมเดลใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล เปิดตัว “โออิชิบิซโทโระ” ร้านอาหารไฮบริด ชิมลางสาขาแรกเซ็นทรัล อยุธยา ตามด้วย KFC Digital Lifestyle Store ไร้สัมผัส มั่นใจปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น จ่อขยายเพิ่มอีก 40 สาขา

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหารประเทศไทย บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ, กรรมการผู้จัดการ บมจ. โออิชิ กรุ๊ป และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการเองต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

 

โดยเฉพาะในธุรกิจรีเทล อาหารและบริการ ซึ่งจากการศึกษาทำให้เห็นว่า ในทุกวิกฤติมีโอกาส และทุกโอกาสต้องถูกนำมาต่อยอด ดังนั้น เมื่อสัดส่วนยอดขายเทคโฮมและดีลิเวอรีที่มากขึ้นในเคเอฟซี ก็เป็นโอกาสที่ในร้านอาหารอื่นๆ จะนำมาทำได้

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล

ดังนั้นดีไซน์สโตร์ร้านสาขาใหม่จะเริ่มเห็นมุมของเทคโฮมและดีลิเวอรีมากขึ้นทั้งในร้านโออิชิเอง รวมถึงร้านเคเอฟซี นอกจากนี้ยังปรับแต่งบริเวณหน้าร้านให้มีคอร์เนอร์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้ออาหารประเภทพร้อมทาน เช่น ซูชิ, ข้าวหน้าต่างๆ, ราเมน, ชาบู/สุกี้แบบเซ็ต, น้ำจิ้มสุกี้/ชาบู เพื่อนำกลับไปทานหรือปรุงที่บ้านได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลอง 6-8 สาขา

 

ขณะที่ในปลายเดือนพฤศจิกายน ได้เปิดให้บริการร้านโออิชิ บิซโทโระ (OISHI BIZTORO) สาขาแรกภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา เพื่อเป็นการทดลองโมเดลใหม่ร้านอาหารญี่ปุ่นไฮบริด ที่ผสมผสานระหว่างการให้บริการแบบจานด่วนและเรสทัวรองค์ โดยเน้นจำหน่ายร้านราเมนกับข้าวด้ง (ข้าวหน้าต่างๆ อาทิ ข้าวหน้าเนื้อ ข้าวหน้ากุ้ง ข้าวแกงกะหรี่ ฯลฯ) ในรูปแบบฟาสต์แคชชวล ที่จำหน่ายทั้งอาหารจานเดียวและเซ็ตเมนู เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการความสะดวก สบาย รวดเร็ว ในราคาคุ้มค่า

 

“โออิชิ บิซโทโระ เป็นโมเดลใหม่ที่เราเรียกว่าไฮบริดเพราะเป็นการผสมผสานระหว่าง QSR กับ Dine in เหมาะกับลูกค้าในต่างจังหวัด ที่ต้องการความง่าย สะดวก รวดเร็ว ซื้อง่าย อร่อย เบื้องต้นมองว่าลูกค้าเข้ามาใช้บริการในราคา 150-180 บาทต่อคน ขณะที่การลงทุนด้วยพื้นที่ไม่ถึง 100 ตรม.

โออิชิ บิซโทโระ

ทำให้ใช้ต้นทุนต่ำกว่าร้านราเมน 20-30% จึงมีโอกาสขยายได้มากขึ้นทั้งในรูปแบบที่บริษัทขยายเองและแฟรนไชส์ โดยในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาที่เซ็นทรัล ศรีราชา และในปีหน้าจะทดลองเปิดนอกห้างใหญ่ ทั้งรูปแบบสแตนด์อะโลน คอมมูนิตี้มอลล์ รวมถึงในสถานีบริการน้ำมันด้วย”

 

นอกจากนี้ยังมีร้านเคเอฟซี โมเดลใหม่ ที่เรียกว่า “KFC Digital Lifestyle Store” ซึ่งเป็นร้านสาขาแรกที่ให้บริการสั่งซื้อ จ่ายเงินและรับสินค้าแบบไร้สัมผัส เปิดให้บริการแห่งแรกที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เพื่อรองรับกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ โดยโมเดลนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ภายใต้กลุ่มธุรกิจอาหาร ของไทยเบฟฯ และเคเอฟซี ประเทศไทย โดยบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนา เพื่อรองรับโลกดิจิทัล และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่

KFC Digital Lifestyle Store

อย่างไรก็ดีในปีหน้า เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น ทำให้บริษัทมีแผนลงทุนขยายสาขารวมทุกแบรนด์ทั้งเคเอฟซี, โออิชิ กรุ๊ป และฟู้ด ออฟ เอเชียรวม 40 สาขา โดยเน้นหนักที่เคเอฟซี และโออิชิ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 250-300 ล้านบาทในการขยายสาขาเพิ่ม 10-15 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการขยายสาขาใหม่รวมทุกแบรนด์ 24 สาขา

 

“การเปิดสาขาทำให้เราเรียนรู้ลูกค้า ว่าลูกค้าใหม่ๆ ที่เข้ามา ต้องการอะไร เมื่อเรารู้ก็ต้องปรับตัวให้ทัน เพราะชั่วโมงนี้ต้องเรียนรู้ ตีความและทำให้เร็ว ไม่ใช่มัวแต่คิด ใช้เวลา adapter เขาก็ไปต่อแล้ว เพราะลูกค้าเปลี่ยนเร็วมาก ถือเป็นความท้าทายที่เราต้องเรียนรู้ และมูฟให้ทัน”

 

สำหรับธุรกิจอาหารของกลุ่มไทยเบฟมี 23 แบรนด์ รวม 673 สาขา อาทิ โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ, โออิชิ ราเมน, เคเอฟซี, หม่านฟู่หยวน, แม็กซ์แอนด์เค้ก เบเกอรี่ฯ โดยในปีนี้ (ต.ค. 2563-ก.ย.2564) มีรายได้รวม 11,280 ล้านบาท หดตัว 14.4% มีผลขาดทุน 488 ล้านบาท หรือติดลบ 383.2% จากปี 2563 ที่ขาดทุน 101 ล้านบาท

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,742 วันที่ 23 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564