ผ่ามุมคิด ‘จอน เฉลิมวงค์’ ครีเอทีฟรุ่นเก๋า กับก้าวแรก audacity

16 ต.ค. 2564 | 06:35 น.

กว่า 20 ปีในวงการเอเยนซีเมืองไทย วิถีชีวิตของครีเอทีฟอย่าง “จอน เฉลิมวงค์” ย่ำมาแล้วทั้ง Saatchi & Saatchi New York , Y&R Bangkok รวมถึง Dentsu Thailand กวาดรางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วน ก่อนตัดสินใจก้าวจาก Big Agency มานับ 1 ใหม่ในนาม “audacity”

ท่ามกลางสมรภูมิรบที่ต้องเผชิญทั้งธุรกิจขาลง และโควิดขาขึ้น (ช่วงระบาดใหญ่) “จอน เฉลิมวงค์” ผู้ก่อตั้งและ Chief Creative Officer บริษัท ออแดซิตี้ จำกัด (audacity) เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์กว่า 20 ปีในวงการเอเยนซีว่า สิ่งที่เผชิญมาหากเปรียบเทียบเป็นสงครามก็เผชิญกับสงครามมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกคือ อินเตอร์เน็ต ดิสรัปชั่น การก้าวเข้ามาของอินเตอร์เน็ตที่เปลี่ยนวิถีชีวิตคน รวมถึงวงการเอเยนซี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน

 

ครั้งที่สอง คือ แพลตฟอร์ม ดิสรัปชั่น การเข้ามาของ Facebook, Google ฯลฯ ที่แม้เขาจะบอกว่า ไม่ใช่ศัตรูของเอเยนซี แต่ในความคิดของ “จอน” ความเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มและรับลูกค้าโดยตรงทั้งแอดเวอร์ไทซิ่งและคอนเทนต์ คือสิ่งที่น่ากลัว และบั่นทอนเอเยนซี

 

ส่วนสงครามครั้งที่สามในวงการเอเยนซีหนีไม่พ้น “โควิด-19” เป็นสงครามที่หนักที่สุด เพราะลูกค้าได้รับผลกระทบไปด้วย มีการตัดงบประมาณ เม็ดเงินต่างๆ เกิดการแข่งขันจากคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่หันมาชิงเค้กก้อนเดียวกัน

ผ่ามุมคิด ‘จอน เฉลิมวงค์’ ครีเอทีฟรุ่นเก๋า กับก้าวแรก audacity

“หากเปรียบเทียบเอเยนซีเป็นทหาร เป็นประเทศ หรือเป็นกองทัพ ก็มีล้มตายในสงครามที่เกิดแต่ละครั้ง”

 

ในด้านการทำงาน “จอน” บอกว่า เขาโชคดีที่ได้ร่วมงานครีเอทีฟมือดีระดับแนวหน้าของประเทศจำนวนมาก แต่ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่เขาพบ คือ การทำงานของเอเยนซีในรูปแบบเดิมๆ ที่ยังมีกรอบ มีขั้นมีตอน และสำคัญต้องมี budget

 

วันนี้สิ่งที่เขาอยากทำคือ ลบภาพความเป็นเอเยนซี ที่ถูกมองว่า ชาร์ตค่าฟีแพง ใช้เวลาเยอะ ขั้นตอนมาก มุ่งสร้างมาร์เก็ตติ้ง ครีเอทีฟ เพื่อตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในเวลาอันรวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดต้นทุน และสำคัญได้ “งาน”

 

หลายครั้งที่เขาสามารถปิด “Job” ได้ชิ้นงานจากการประชุมร่วมกันในครั้งแรก โดยไม่ต้องรอ AE รับบรีฟงาน หาข้อมูล 2 สัปดาห์ก่อนนำเสนอต่อครีเอทีฟ ให้ครีเอทีฟคิดสร้างสรรค์ ก่อนนำเสนอลูกค้า กลับมาแก้งาน เบ็ดเสร็จ 1 เดือนผ่านไปยังไม่เห็นชิ้นงาน

 

การก้าวออกมาเริ่มต้น “เอเยนซี” เล็กๆ ที่นั่งทำงานใน Co-Working Space สร้างสรรค์ผลงานให้ลูกค้า 8-10 ราย กลับสะท้อนถึงชิ้นงานและความเป็นตัวตนของเขาและทีมได้ดีกว่า

ผ่ามุมคิด ‘จอน เฉลิมวงค์’ ครีเอทีฟรุ่นเก๋า กับก้าวแรก audacity

“วันนี้ audacity ไม่รับ Pitching งาน ถ้ามีงานเข้ามาก็พร้อมรับ แต่ขอเลือกเพื่อให้ได้งานดี ซึ่งชิ้นงานจะออกมาดี อยู่ที่เอเยนซี่ 50 : ลูกค้า 50 เราจะบอกกับลูกค้าเสมอว่า ถ้าอยากได้งานดีต้องเชื่อใจกัน ต้องเคารพพื้นที่ของกันและกัน ในส่วนของลูกค้าเราก็เคารพในข้อมูลสินค้า ข้อมูลธุรกิจ เพราะเราเชื่อว่าเขารู้ดีกว่าเรา”

 

ในช่วงที่ผ่านมาวงการเอเยนซี เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย หลายเอเยนซีต้องปรับตัว หลายสื่อรายได้ลดลง แต่งานครีเอทีฟยังเป็นหัวใจหลัก ซึ่ง “จอน” มองว่าบริษัทใหญ่ก็ยังต้องการเทรดดิชั่นนอล เอเยนซี แต่ SME ยังขาดทั้ง budget และ creative การรองรับ SME เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กับทั้งสองฝ่าย ฝ่ายลูกค้าก็ได้งานในงบที่ต้องการ ฝ่ายเอเยนซีก็ได้สร้างสรรค์งาน ที่ท้าทายและพึงพอใจ

 

“ในวันนี้ที่ทุกคนมีเงินเท่ากัน ยิงแอดเองได้ อะไรสำคัญก็ต้องงานครีเอทีฟ ที่จะช่วยสร้างความแตกต่างและดึงดูดคน”

 

หลังปักหมุด “audacity” ได้ราว 14-15 เดือน จอน บอกว่า ยังไม่ประเมินตัวเองว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน แต่สิ่งที่เห็นคือ เชื่อมั่นว่ามีช่องทางที่ไปต่อได้ เพราะเขายังมีอีกหลายสิ่งที่อยากทำ และอยากสร้าง และเขาเชื่อว่า เอเยนซีจะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป

 

“มีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่อยากทำ เพราะคิดว่าไปต่อได้จากงานครีเอทีฟ ไม่ว่าจะเอาไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และหาพาร์ทเนอร์มาร่วมผลิตออกวางจำหน่าย รวมถึงการผลิตเป็นคอนเทนต์ป้อนสตรีมมิ่ง ทุกอย่างล้วนเกิดได้หมด”

 

วันนี้รายได้หลักของเอเยนซีน้องใหม่รายนี้จะมาจากงานมาร์เก็ตติ้ง ครีเอทีฟ 70-80% ส่วนอีก 20-30% มาจากแพลตฟอร์มที่เริ่มสร้างและจะเป็น Big Data ในอนาคต แต่อนาคต “จอน” มองว่า รายได้หลักจะมาจากคอนเทนต์ 60-70% ส่วนงานมาร์เก็ตติ้ง ครีเอทีฟจะเหลือราว 30% หลังผ่านพ้นปีแรก เขาเตรียมขุมกำลังพลเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว แม้ไม่มุ่งหวังรายได้ก้อนโตแต่ปี 2 นี้คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาเพื่อหนุนพลังให้ทีมงาน 35-40 ล้านบาท ถือว่ามากทีเดียวในช่วงวิกฤตโควิดเช่นนี้

ผ่ามุมคิด ‘จอน เฉลิมวงค์’ ครีเอทีฟรุ่นเก๋า กับก้าวแรก audacity

หากถามหาผลงานที่เขาและทีมงานร่วมครีเอทขึ้นมา คงร่ายยาวไม่หมด แต่เขาบอกว่า สามารถเข้าไปดูหรือร่วมแลกเปลี่ยนกันได้ เพราะนอกจากชิ้นงานที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น ยังมีเคสมาร์เก็ตติ้งระดับโลกจำนวนมาก ที่เขานำเจาะลึก วิเคราะห์และร่วมแชร์ไอเดียอยู่ในแพลตฟอร์มที่เขาสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักการตลาดรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ซึ่งในตำราไม่มี ไม่ว่าจะเป็นที่ facebook: @audacitybkk/ YouTube: audacitybkk/ Instagram: audacitybkk/ TikTok: @audacitybkk และ Blockdit: audacitybkk

 

สุดท้าย “จอน” บอกว่า โลกหลังโควิด ทำให้เอเยนซีเองต้องมองหาเซอร์วิสใหม่ๆ ให้กับลูกค้า อยากให้มองว่า โควิดเป็นบทเรียนบทเรียนหนึ่ง การทำธุรกิจก็ต้องไม่มีรูปแบบที่ตายตัว หากเอเยนซีใหญ่ไม่ปรับตัว วันหนึ่งหากไม่มีลูกค้าเบอร์ใหญ่อยู่ในมือ ก็มีโอกาสปิดตัวได้เช่นกัน

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,722 วันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564