มธ.จัดหา ATK ชุดละ30-50 บาท พร้อมจับมือเอกชนเจรจา “โนวาแวกซ์”

17 ส.ค. 2564 | 07:55 น.

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ตั้งโต๊ะแถลงหลังสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ เร่งจัดหา ATK ราคาชุดละ 30-50 บาท และหารือร่วมรร.แพทย์ ภาคเอกชนจัดหาวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 “โนวาแวกซ์” และ m-RNAเจนเนอร์เรชั่น 2

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 มีลักษณะคล้ายกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสภากาชาดไทย ที่สามารถจัดการในเรื่องของยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถติดต่อผู้ผลิตโดยตรงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19

 

“การดำเนินการหลังจาก สภามหาวิทยาลัย ได้ประกาศออกมา ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้รับทราบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยปลดล็อกในเรื่องของยาและวัคซีนที่ตอนนี้มีปัญหาในการจัดหาจัดซื้อ เพื่อมาช่วยผู้ป่วย เนื่องจากอาจจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมถึงเวชภัณฑ์แม้ในปัจจุบันจะไม่มีประเด็นแต่ก็ต้องเตรียมการไว้

 

สำหรับผู้ปฎิบัติ และผู้มีอำนาจในการจัดหาจัดซื้อ หรือดำเนินการตามๆ สภามหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจโดยตรง ซึ่งในส่วนนี้ จะมีการเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแล ทั้งระดับรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุข และคณะเภสัชกรรม ให้เป็นดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติยังมีความสนใจนำเข้าวัคซีนทางเลือกที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการนำเข้าของหน่วยงานอื่น ทั้งของรัฐ องค์การเภสัชกรรม และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเป็นวัคซีนเจนเนอร์ชั่น 2 เพื่อบูสเตอร์โดสให้ประชาชน เบื้องต้นคาดว่าเป็นโปรตีนซัปยูนิตของ โนวาแวกซ์ รวมถึงวัคซีน m-RNA เจนเนอร์เรชั่น 2 อย่างโมเดิร์นนา 

อย่างไรก็ตาม วัคซีนแต่ละชนิดมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ และบางบริษัทกำหนดว่าจะต้องผ่านรัฐบาลกลางเท่านั้น ซึ่งหากมีข้อจำกัด มธ.คงไม่ได้เข้าไปดำเนินการ การประกาศข้อบังคับในครั้ง มธ.จะเข้าไปช่วยเสริมการทำงาน การจัดหาจัดซื้อ วัคซีน แต่คงไม่ได้ทำด้วยตนเองทั้งหมด  

 

เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ มธ.ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ต้องใช้งบประมาณของตนเอง ซึ่งมธ.ได้หารือเบื้องร่วมกับเครือข่าย โรงเรียนแพทย์ UHOSNET ราชวิทยาลัย สมาคม รวมถึงกลุ่มเครือข่าย โรงพยาบาลเอกชน โดยคาดว่าจะสามารถนำเข้าได้ในปี 2565

“การจัดหาวัคซีนในปีนี้ คงไม่ทัน เพราะคงมีการจองไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ปีนี้คิวจองยาวมาก แต่อาจจะได้ในปีหน้า ดังนั้น ตอนนี้หากมีบริษัทวัคซีนที่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆ สั่งจองไว้ เราก็อาจจะทำการสั่งจองล่วงหน้า ยกเว้น ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ภาครัฐดำเนินการไม่เพียงพอ หรือไม่มีเทคโนโลยีวัคซีนใหม่ๆ เราก็อาจจะเข้าไปช่วยจองวัคซีนเหล่านั้น”