37 องค์กรพ่าย ศาลปกครองไฟเขียวดีล ‘ซีพีซื้อโลตัส’

30 มิ.ย. 2564 | 13:55 น.

37 องค์กรฮึดสู้ ร้องคัดค้านพร้อมยื่นเอกสารกรณีศึกษาต่างประเทศเพิ่ม หลังศาลปกครองไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว กรณี กขค. อนุญาต “ซีพี”ควบรวมกิจการ “เทสโก้ โลตัส”

หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายพร้อมขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวนั้น

ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ทนายความในคดีนี้ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ 36 องค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และขณะนี้องค์กรอยู่ระหว่างเตรียมการยื่นคำคัดค้าน ภายใน 30 วันตามที่ศาลกำหนด ซึ่งหากไม่ทันภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ขอขยายเวลาได้

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายผู้ร้องสอบ (บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) และผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า) สามารถส่งคำให้การเพิ่มเติมได้เช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะยื่นได้ฝ่ายละ 2 ครั้ง หลังจากนั้นศาลจะไต่สวนตามเอกสารที่ส่งเข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้พบว่า มีผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ยื่นฟ้องบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ฯ เช่นกัน ศาลจึงมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีเข้ามาไว้รวมกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณา

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ36 องค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้เตรียมเอกสารที่จะนำเสนอเพิ่มเติม เป็นข้อมูลกรณีศึกษา คณะกรรมการของต่างประเทศที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการของซีพี ที่เข้าซื้อธุรกิจแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ศึกษาและพบว่า หากเกิดการควบรวมกิจการขึ้น จะทำให้ซีพีมีอำนาจเหนือตลาด โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 50%

“กรณีศึกษาในต่างประเทศพบว่า หากซีพีเข้าซื้อกิจการร้านค้าปลีกนี้แล้วจะทำให้มีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 50% จะทำให้ซีพีมีอำนาจเหนือตลาด จึงไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการ แต่ในประเทศไทยแม้จะศึกษาพบว่า หลังเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสแล้วซีพีจะมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% ก็ยังอนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการได้”

ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ฯ และบริษัท เทสโก้ สโตร์สฯ ซึ่งมีผลให้ซี.พี. มีส่วนแบ่งตลาดธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งมากกว่า 83.97% ทำให้มีอำนาจเหนือตลาด ผูกขาดการค้าและมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนและสินค้าท้องถิ่น รวมถึงกระทบต่อเสถียรภาพของผู้บริโภคที่ไม่สามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระและเป็นธรรม

จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง 3 ข้อ ได้แก่ 1. เพิกถอนคำสั่งของกขค. ที่อนุญาตให้รวมธุรกิจ 2. หากศาลไม่มีคำพิพากษาหรือคิดสั่ง ก็ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขเชิงพฤติกรรมให้ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจปฏิบัติตาม ทั้งการขายกิจการหรือทรัพย์สินบางส่วนออกไปเพื่อลดการมีอำนาจเหนือตลาด และปรับสัดส่วนแบ่งการตลาดไม่เกิน 50%, ห้ามขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 10 ปีหลังการรวมธุรกิจ 3. ให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยห้ามรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีก
สมัยใหม่ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางระบุว่า การที่ กขค. อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์กับเทสโก้ สโตร์สฯ นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนด จึงยังไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฏหมาย จึงยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ที่มา: หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564