เปิดรับฟังความคิดเห็น "กฎหมายประมง" ใหม่

19 มิ.ย. 2564 | 10:09 น.

​​​​​​​อัพเดท กฎหมายประมงใหม่  “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ วันที่ 18 มิ.ย.  เป็นต้นไป

เว็บไซต์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร   เปิดรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. .... นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ กับคณะผู้ริเริ่ม และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4เมษายน 2560 เรื่องแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น ได้เปิดรับความคิดเห็นตั้งตั้งแต่ วันที่ 18 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

 

ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน  

 

โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณา พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558  และ พระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560   ได้มีการตราขึ้นใช้บังคับอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ร้ายแรงของการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกขึ้นบัญชีหรือใบเหลืองของสหภาพยุโรป (อียู) หรืออาจจะถูกปรับขึ้นเป็นใบแดง จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและตอบสนองให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่พยายามแก้ไขปัญหา จึงได้ตราเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันที

 

อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดดังกล่าวมีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกหรือหลักสิทธิมนุยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรมซ้ำซ้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

 

รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังมีความจำเป็นต้องใช้ระบบคณะกรรมการต่าง ๆ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ในการกำหนดปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะทำการประมงในน่านน้ำไทย กำหนดแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาการประมงของประเทศไทย คณะกรรมการสงเคราะห์พัฒนาและส่งเสริมการประมงในการพัฒนาและส่งเสริมการประมงเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาและส่งเสริมการประมงด้วยการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

คณะกรรมการเปรียบเทียบในการเปรียบเทียบและพิจารณาลงโทษ และคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในการพิจารณาออกคำสั่งตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด สภาพการกระทำความผิดและการกระทำความผิดซ้ำ รวมทั้งใช้ระบบอนุญาตหรือมาตรการอื่นใด ตลอดจนกำหนดโทษทางการปกครองและโทษทางอาญาที่เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและป้องกันการกระทำผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

1. ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประมงและสิทธิการประมงในน่านน้ำไทย รวมทั้งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง

 

2. กำหนดขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงแบบครบวงจร กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่กระบวนการแปรรูปสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยกำหนดนิยาม คำนิยามคำว่า “สัตว์น้ำ” และกำหนดประเภทของกิจการที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ได้แก่ การทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เครื่องมือทำการประมง เรือประมง ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมง ตามกฎหมายท้องถิ่น ธรรมเนียมประเพณีกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาหรือด้วยประการใด ๆ และห้ามมิให้ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง (ร่างมาตรา 6 มาตรา 9 และมาตรา 11)

 

3. กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือคณะกรรมการการประมงประจำจังหวัด มีอำนาจประกาศควบคุมการทำการประมง และกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อกำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตประมงทะเลชายฝั่ง และได้กำหนดให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องพิจารณา เพื่อเสนอรัฐมนตรีในการออกประเทศ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนผู้ประกอบอาชีพการประมงหรืออาชีพในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการประมง(ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)

 

4. กำหนดให้มีการเก็บสถิติการประมงเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและการบริหารจัดการด้านการประมง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งอธิบดีกำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่เกี่ยวข้องกับการประมง (ร่างมาตรา 10)

 

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เป็นกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายด้านการประมง รวมทั้งกำกับให้คำปรึกษา และให้คำแนะนำในการดำเนินการแก่คณะกรรมการประมงนอกน่านน้ำไทย ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 13 ถึงร่างมาตรา 19)

 

6. กำหนดให้กรมประมงมีหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งกำหนดให้นิติบุคคลคณะบุคคลหรือองค์กรอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมงในท้องถิ่นใดมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่องค์กรนั้น ตั้งอยู่ต่อกรมประมงได้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยองค์กรดังกล่าวจะมีสิทธิเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมง รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการออกประกาศต่อคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 24)

 

 7. กำหนดให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง โดยมีประมงจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และในจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำโขง ให้มีผู้แทนกองทัพเรือ เป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขั้นอีกหนึ่งคน โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเสนอแนะแนวทางในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดทำนโยบายพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทย

 

 

ให้สอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำและขีดความสามารถในการทำประมง พิจารณาและเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมงหรือจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ในที่จับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบต่อรัฐมนตรี คณะกรรมการ หรืออธิบดีออกประกาศ รวมทั้งดำเนินการอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติมอบหมาย ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 25 ถึงร่างมาตรา 28)

 

สิทธิการใช้ทรัพยากรในทะเล

 

8. กำหนดการคุ้มครองสิทธิของการใช้ทรัพยากรในเขตการประมงของไทย โดยให้สิทธิแก่ผู้มีสัญชาติไทย ใช้เรือไทย และใช้คนไทยในการทำการประมง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำหน้าที่เป็นลูกเรือในเรือประมงได้ (ร่างมาตรา 29 ถึงร่างมาตรา 34) 9. กำหนดให้มีการบริหารจัดการ ควบคุม และกำกับดูแล การทำการประมงและการแก้ปัญหาประโยชน์ขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการผลิตของธรรมชาติ (ร่างมาตรา 34 ถึงร่างมาตรา 53)

 

10. กำหนดมาตรการในการอนุรักษ์ การบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรและการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่นและองค์กรต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชนให้ความสามารถในการแข่งขันและใช้ประโยชน์จากแหล่งประมงอื่นใดให้เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุดมีการจัดตั้งสำนักงานขึ้น เรียกว่า “สำนักงานส่งเสริมและจัดการวิสาหกิจการประมงนอกน่านน้ำไทย” เพื่อทำหน้าที่เจรจากับรัฐหรือเอกชนในต่างประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการทำประมงนอกน่านน้ำไทย

 

 

รวมถึงประสานและจัดการวิสาหกิจประมงนอกน่านน้ำไทยกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องและศึกษาและจัดทำรายงานสถานการณ์วิสาหกิจการประมงนอกน่านน้ำไทย ตลอดจนเสนอแผนงาน แผนการลงทุนและที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 54 ถึงร่างมาตรา 69)

 

11. กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงหรืออาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ การทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนแห้งหรือลดน้อยลงเพื่อทำการประมง การควบคุมการครอบครองเครื่องมือทำการประมงที่ใช้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรง โดยผู้ทำการประมงต้องไม่ฝ่าฝืนและปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 70 ถึงมาตรา 87)

 

12. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรกำหนดมาตรฐานในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และกำหนดให้กรมประมงมีอำนาจออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กำหนดห้ามทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่ในพื้นที่ที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดและได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอรับหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ (ร่างมาตรา 88 ถึงร่างมาตรา 94)

 

13. กำหนดระบบควบคุม เฝ้าระวัง และตรวจสอบการทำการประมงและสร้างระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำประมงไปจนถึงผู้บริโภคขายสุดท้าย โดยกำหนดให้เจ้าของเรือดำเนินการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของกรมประมงได้ และให้เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 95 ถึงร่างมาตรา 121)

 

14. โดยกำหนดให้มีการจัดทำมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการจับ การดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ การแปรรูปสัตว์น้ำ การเก็บรักษา การขนส่งหรือขนถ่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อน กำหนดกิจการที่ต้องมีการควบคุมกิจกรรมดังกล่าว และกำหนดห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่เกิดสภาวะมลพิษหรือมีการปนเปื้อนของสารพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรวจต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำเกิดมาตราตามชนิดและปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยกำหนดให้อธิบดีกรมประมงมีอำนาจประกาศห้ามทำการประมงเป็นการชั่วคราว ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ในการจับสัตว์น้ำนั้นเกิดสภาวะมลพิษหรือ มีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำและไม่อาจตรวจพิสูจน์หรือเสนอรัฐมนตรีเพื่อออกประกาศห้ามทำการประมงโดยเด็ดขาดได้ทัน (ร่างมาตรา 122 ถึงร่างมาตรา 124)

 

15. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถให้บริการในการตรวจสอบ การขอรับใบอนุญาตการออกหนังสืออนุญาต และการขอหนังสือรับรองต่าง ๆ ตามที่ร่างพระราชบัญญัติกำหนดไว้ โดยผู้ยื่นคำขอต้องชำระค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น รวมทั้ง มีอำนาจมีหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจ การควบคุมการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับหรือควบคุมเรือประมงหยุดเรือ หรือขึ้นไปบนเรือ หรือเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำ รวมทั้ง ให้มีอำนาจค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อนำไปตรวจสอบหรือวิเคราะห์ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดและในกรณีที่สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ยา เคมีภัณฑ์หรือสารอันตรายอื่นใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัดมีสภาพที่อาจเป็นอันตรายให้อธิบดีมีอำนาจจัดการได้ตามสมควร (ร่างมาตรา 125 ถึงร่างมาตรา 131

 

6. กำหนดให้ตั้งกองทุนสงเคราะห์ พัฒนาและส่งเสริมการประมง เพื่อทำหน้าที่การบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือส่งเสริมผู้ประกอบการประมงและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง ในการผลิต การปรับปรุงเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการพยุงราคาและการจำหน่าย การพัฒนาผลิตผลสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ประมง (ร่างมาตรา 139 ถึงร่างมาตรา 150)

 

17. กำหนดมาตรการทางปกครอง โดยนำมาตรการในการพักใช้ใบอนุญาตการระงับการอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมาบังคับใช้ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว รวมทั้งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการกับเครื่องมือทำการประมงสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุหรือผู้รับอนุญาตได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาต (ร่างมาตรา 151 ถึงมาตรา 176)

 

18. กำหนดบทลงโทษทางอาญาให้เหมาะสมกับความผิดและสภาวะทางเศรษฐกิจ 19. กำหนดอัตราค่าอากรใบอนุญาตและเครื่องมือทำการประมงตามประเภทเครื่องมือทำการประมงและอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

 

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.กระทรวงมหาดไทย 

3.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

4.กองทัพเรือ 

5.คณะกรรมการประมงแห่งประเทศไทย

6.สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

7.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย

8. สมาคมเรือประมงพาณิชย์

9. ชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ สหกรณ์หรือสมาคม หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการประมง

10. ประชาชนทั่วไป

 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

 

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายให้ครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงแบบครบวงจร (ร่างมาตรา 6 มาตร 9 และมาตรา 11)

 

2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดมาตราในการบริหารจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือคณะกรรมการการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจประกาศควบคุมการทำประมง และรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการออกประกาศเพื่อกำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในการประมงทะเลชายฝั่ง(ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)

 

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจกำหนนโยบายด้านการประมง รวมทั้งกำกับให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำ ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ (ร่างมาตรา 13 ถึงร่างมาตรา 19)

 

4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งโดยมีประมงจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีผู้แทนกองทัพเรือ เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกคน ในกรณีจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำโขงการพัฒนา หรือแก้ปัญหาการประมง การจัดการบำรุงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ในที่สัตว์น้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ (ร่างมาตรา 25 ถึงร่างมาตรา 29)

 

5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้กรมประมงมีอำนาจออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กำหนดห้ามทำการและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ เว้นแต่ในพื้นที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงจังหวัดประกาศกำหนดและได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอรับหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ (ร่างมาตรา 88 ถึงร่างมาตรา 94)

 

6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้เจ้าของเรือดำเนินการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของกรมประมงได้ (ร่างมาตรา 95 ถึงร่างมาตรา 121)

 

7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถให้บริการในการตรวจสอบ การขอรับใบอนุญาตการออกหนังสืออนุญาต และการขอหนังสือรับรองต่าง ๆ ตามที่ร่างพระราชบัญญัติกำหนดไว้ รวมทั้ง มีอำนาจมีหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจค้นตามประมงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 125 ถึงมาตรา 138)

 

8.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ตั้งกองทุนสงเคราะห์ พัฒนาและส่งเสริมการประมงเพื่อทำหน้าที่การบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือส่งเสริมผู้ประกอบการประมงและประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมง ในการผลิต การปรับปรุงเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการพยุงราคาและจำหน่าย (ร่างมาตรา 139 ถึงร่างมาตรา 150)

 

9.ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการสงเคราะห์ พัฒนาและส่งเสริมการประมง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย นายกสมาคมการประมงพื้นบ้าน และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นที่คณะกรรมการอื่นที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินแปดคน กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน (ร่างมาตรา 143)

 

ดาวน์โหลด "ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. .... " (คลิกอ่าน ที่นี่)

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง