เอกชนมหาชัยลั่น‘ไม่จ้างแรงงานเถื่อน’

14 พ.ค. 2564 | 03:55 น.

ภาคเอกชนสมุทรสาครลั่นไม่จ้างแรงงานเถื่อน จับมือจังหวัดรณรงค์ใหญ่ แนะลดค่าจดทะเบียนลงจูงใจเข้าระบบ ด้านผอ.LPNชี้ “จับส่งกลับ” แก้ไม่จบ แนะสกัดเข้ม ตรวจเข้ม จับได้ขึ้นทะเบียนเข้าระบบทันที

ภาคเอกชนสมุทรสาครลั่นไม่จ้างแรงงานเถื่อน จับมือจังหวัดรณรงค์ใหญ่ แนะลดค่าจดทะเบียนลงจูงใจเข้าระบบ ด้านผอ.LPNชี้ “จับส่งกลับ” แก้ไม่จบ แนะสกัดเข้ม ตรวจเข้ม จับได้ขึ้นทะเบียนเข้าระบบทันที

ประโยค “คนไทยกันเองเปิดประตูบ้านลักลอบทำเรื่องผิดกฎหมาย” ของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จุดประเด็นปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งผ่านวิกฤติการระบาดเชื้อโควิด-19 ของคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งมหาชัยได้ไม่นาน

 

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โพสต์ของผู้ว่าฯ เป็นความห่วงใยที่ให้ทุกคนช่วยกันระวังผู้ที่แอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามา อาจนำเชื้อโควิด-19 ติดมาด้วยจนลามไปทั่ว ซึ่งเรื่องนี้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้รณรงค์ผู้ประกอบการไม่ให้ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นคงลำบาก

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร

แรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ ภาครัฐก็ต้องร่วมแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเราปิดไม่ให้แรงงานเข้ามานานพอสมควรแล้ว ดีที่สุดคือทำให้แรงงานถูกกฎหมาย เช่น ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวลง จากเวลานี้ประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อราย เพราะถ้ายิ่งแพงก็ยิ่งหนีเป็นแรงงานเถื่อน 

นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า เรื่องที่เอกชนยังนำเข้าและใช้แรงงานผิดกฎหมายนั้น ทางผู้ว่าฯสมุทรสาครและภาคเอกชน โดยหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จะร่วมแถลงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ถึงความร่วมมือที่จะไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย

ประธานคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร

ซึ่งการปิดรูรั่วที่เกิดขึ้นนั้น เป็นหน้าที่ของทางราชการที่จะต้องเข้มงวด ทั้งบริเวณชายแดนและในพื้นที่ต่างๆ ส่วนภาคเอกชนก็ส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่า จะไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งจะต้องแจ้งบอกไม่ให้แรงงานลักลอบเข้ามา หรือห้ามนำญาติพี่น้องเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย โดยชี้ให้เห็นว่าทางราชการกำลังตรวจจับอย่างเข้มงวด

ด้านพ.ต.อ.ภาสกร รัตนปนัดดา ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า ข้อความที่เผยแพร่ดังกล่าว ทำให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยิ่งมีความตระหนักและตื่นตัวมากยิ่งขึ้น โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้บูรณาการกวดขัน ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง กอ.รมน. หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน หน่วยงานฝ่ายปกครอง และสถานีตำรวจในพื้นที่ต่าง ๆ ก็ได้มีแผนปิดล้อมและตรวจค้นอย่างตลอดอยู่แล้ว

 

ขณะที่นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐไม่สามารถสกัดการลักลอบเข้ามาได้ ซึ่งมีปัจจัยผลักดันจากฝั่งเมียนมาเองก็เยอะ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ความยากจน และปัญหาการเมือง เข้ามาหลายรูปแบบทั้งการลักลอบขนคนเข้ามา หรือลักลอบพาญาติพี่น้องเข้ามาสมทบ รวมถึงการมีใบสั่งจากนายจ้างที่ต้องการแรงงานทำให้พยายามใช้ทุกช่องทางเพื่อเล็ดลอดเข้าไทยให้ได้ก่อน เรียกว่ายอมตายเอาดาบหน้า ดังนั้น การลักลอบเข้ามาจึงมีอยู่ตลอดเช่นเดียวกับระบบการตีส่วยก็มีอยู่แล้ว โดยมีคนไทยคอยเป็นหูเป็นตาให้

“แนวทางการกวดขันจับกุมที่ทางราชการทำอยู่ในขณะนี้ ก็พอจับได้แล้วก็ผลักดันให้กลับประเทศของเขา เหมือนกับการผลักคนให้ไปตาย และไม่แก้ปัญหาเพราะเขาก็ลักลอบเข้ามาอีก ทางแก้ที่ตรงจุดต้องทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน คือ 1.ยังต้องกวดขันจับกุมอย่างที่ทำอยู่ แต่เมื่อจับได้แล้วต้องนำนายจ้างลูกจ้างมาเจรจากัน ถ้าจะจ้างต่อต้องนำตัวแรงงานต่างด้าวเข้าระบบ ขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง และต้องมีการลงตรวจซํ้าทุกเดือนเพื่อไม่ให้มีการลักลอบอีก เป็นการให้นายจ้างเข้ามารับผิดชอบเต็มที่ และ 2.การตั้งแนวสกัดกั้นปิดล็อกพื้นที่ ไม่ให้มีแรงงานจากชายแดนเข้ามาเพิ่มอีก 

“ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการรายย่อยเองก็ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบอยู่ใต้ดินเหล่านี้จึงยังมีอยู่มาก ผู้เกี่ยวข้องอาจจะไปตรวจสอบดูก็ได้ว่า จริงหรือไม่ที่หน่วยงานสังกัดทางราชการทุกหน่วยรู้ดี แต่ก็หากินกับเขา ถ้ารายใดไม่จ่ายส่วยก็แจ้งหน่วยราชการให้ไปจับ”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง