“S”ลุยนิคม-โรงไฟฟ้า เสริมแกร่งธุรกิจ

15 พ.ค. 2564 | 04:50 น.

สิงห์ เอสเตท”ลุยซื้อนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ พร้อมลงทุนโรงไฟฟ้า เดินหน้าเสริมแกร่งด้วยการผนึกธุรกิจหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องส่งเสริมกัน 

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต่างๆต้องปรับตัวให้ทัน ล่าสุด “บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) (S)” บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เดินหน้าเข้าลงทุนในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และ ธุรกิจสาธารณูปโภคที่เกี่ยวเนื่อง ให้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลัก หลังเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากแนวโน้มความต้องการพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จากนโยบาย Thailand 4.0 ภายใต้โมเดล BCG และ First S-Curve รวมถึงสอดคล้องตามกลยุทธ์ที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ

 

ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น S ประจำปี 2564 มีมติอนุมัติการซื้อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยให้บริษัท เอส. ไอเอฟ จำกัด (S.IF.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้น 100% ใน บริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด (PIC) มูลค่า 695 ล้านบาท จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด รวมถึงซื้อธุรกิจโรงไฟฟ้าใน บริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด (ATP) สัดส่วน 30% มูลค่า 557 ล้านบาท และซื้อสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ บนมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) สัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ในบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด (BGPR 1) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด (BGPR 2) รวมเรียกว่า (BGPR) มูลค่ารวม 15 ล้านบาท ทั้งนี้ การโอนหุ้นระหว่างกันคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในไตรมาส 3 ปี 2564 

 

สำหรับ PIC ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมเวิล์ด ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ตั้งอยู่ที่ตำบลไชยภูมิ และตำบลหลักฟ้า อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง มีเนื้อที่ 1,790-2-22 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 1,392-1-24 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ขายสุทธิ 992-3-58 ไร่ หรือ 71% พื้นที่พาณิชยกรรม 34-0-72 ไร่ หรือ 3% พื้นที่สาธารณูปโภค และพื้นที่อื่นๆ 468-0-50.4 ไร่หรือ 26% ส่วนพื้นที่บ่อนํ้า 384-1-92 ไร่ และพื้นที่นอกนิคมฯ 13-3-06 ไร่ 

“S”ลุยนิคม-โรงไฟฟ้า เสริมแกร่งธุรกิจ

ขณะที่ ATP ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และไอนํ้า มีกำลังการผลิตไฟฟ้า ขนาด 123 เมกะวัตต์ และไอนํ้า 60 ตันต่อชั่วโมง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) อายุสัญญา 25 ปี ในจำนวน 90 เมกะวัตต์ นับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (COD) ซึ่งได้เริ่ม COD เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 โดยมีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) เป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้า มีสัญญาบริการซ่อมบำรุงระยะยาวกับ Siemens Limited ภายหลังการเข้าทำรายการ ATP จะมีผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ BGRIM สัดส่วน 70% และ S.IF. สัดส่วน 30%

 

การเข้าลงทุนโครงการ BGPR นั้น BGPR 1 และ BGPR 2 ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแก่ EGAT และลูกค้าในนิคม PIC ซึ่งรวมถึงไอนํ้าด้วย มีกำลังการผลิตจำนวน 140 เมกะวัตต์ต่อโรง โดยได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EGAT อายุ สัญญา 25 ปี จำนวน 90 เมกะวัตต์ต่อโรง และเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 และวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าทำรายการ BGPR จะมีผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ BGRIM สัดส่วน 70% และ S.IF. สัดส่วน 30%

 

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ S เปิดเผยว่า การซื้อนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่งที่เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนั้น ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจมีความเป็น Resilient Business 

 

ฐิติมา   รุ่งขวัญศิริโรจน์

 

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร S กล่าวว่า การผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมคือหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ การดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ มองว่าทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่ง 

 

การที่เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ไอนํ้าจากผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งยังเป็นผู้ผลิตไอนํ้าที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง มีกระแสเงินสดที่สมํ่าเสมอ และลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 

 

“มากกว่าความลงตัวในเชิงกลยุทธ์แล้ว เรายังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย โดย ณ ช่วงสิ้นปี 2563 อัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ขณะที่ ภาคกลางของประเทศไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%”

 

ขณะเดียวกัน ทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ อีกทั้งคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการคลี่คลายของวิกฤติโควิด-19 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง