จากใจคนรุ่นใหม่ กับอาชีพ “คนเลี้ยงหมู”

23 เม.ย. 2564 | 09:46 น.

เปิดหัวใจคนรุ่นใหม่ “ธีรภัทร์ โนรินทร์” เดือนสวนสุนันทา สานต่ออาชีพเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ เขาคิดอย่างไรกับอาชีพนี้

ธีรภัทร์ โนรินทร์ หรือ ท๊อป เด็กหนุ่มหน้าตาดี ดีกรีเดือนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปี 2563 นักศึกษาชั้นปีที่ 2  วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ที่กำลังสาละวนกับการดูแลลูกหมูในคอก สำหรับบางคนแล้วอาจมีคำถามว่า ทำไมเขาถึงทำได้อย่างคล่องแคล่ว ท๊อปวางมือจากงานตรงหน้าแล้วเริ่มเล่าที่มาว่า เขาช่วยเลี้ยงหมูซึ่งเป็นกิจการของพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก ๆ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กหนุ่มคนนี้ถึงได้เลี้ยงหมูได้อย่างไม่มีท่าทีขัดเขิน

ที่สำคัญช่วงนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันการศึกษาที่เขาร่ำเรียนอยู่ เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่พอดี จึงเป็นโอกาสให้เขาได้กลับบ้านเกิด ที่บ้านกุดคอก่าน ตำบลโคกสำราญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เพื่อกลับมาช่วยงานพ่อแม่ดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่เขารอคอยเพราะจะได้กลับมาอยู่กับครอบครัว และได้ทำงานที่เขารักและชอบทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ และยิ่งชอบมากที่สุดในการดูแลลูกหมูหย่านมที่รับมาเลี้ยงใหม่ ๆ ยิ่งช่วงที่ต้องให้นมลูกหมูเสริมในช่วงแรก เขายิ่งชอบมาก ๆ เพราะลูกหมูน่ารักเป็นพิเศษ

จากใจคนรุ่นใหม่ กับอาชีพ “คนเลี้ยงหมู”

ก่อนที่จะไปตามติดกิจวัตรประจำวันในฟาร์มของท๊อป ต้องมาทำความรู้จักกับ “ฟาร์มแสงเทียน โนรินทร์” ซึ่งเป็นฟาร์มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุนยโสธร กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดย พิรุณ - แสงเทียน โนรินทร์ พ่อและแม่ของท๊อป ช่วยกันย้อนความหลังว่า ตั้งแต่ปี 2535 ครอบครัวโนรินทร์ก็เริ่มเลี้ยงหมูแบบหลังบ้าน 10-20 ตัว ควบคู่กับการปลูกข้าว ปลูกอ้อย เพื่อเป็นอาชีพเสริมกัน กระทั่งปี 2559 ทางซีพีเอฟ ได้ขยายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหมูขุนในเขตจังหวัดมุกดาหารและยโสธร จึงชักชวนพิรุณและแสงเทียนที่มีพื้นฐานการเลี้ยงหมูอยู่แล้ว มาร่วมโครงการ

จากใจคนรุ่นใหม่ กับอาชีพ “คนเลี้ยงหมู”

ขณะนั้นทั้งสองคนก็มีความคิดที่จะขยายการเลี้ยงหมู ให้เป็นกิจการเพื่อเป็นมรดกให้กับลูกสาวและลูกชาย จึงไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมเลี้ยงหมูกับโครงการส่งเสริมฯมุกดาหาร โดยเริ่มจากเลี้ยงหมูขุน 1 โรงเรือนความจุ 600 ตัว เมื่อผลการเลี้ยงเป็นที่น่าพอใจจึงขยายการเลี้ยงอีก 1 โรงเรือน รวมความจุทั้ง 2 โรงเรือนที่ 1,200 ตัว พร้อมระบบไบโอแก๊สเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยปัจจุบันฟาร์มแสงเทียน โนรินทร์ ได้ย้ายมาอยู่กับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน (ฝากเลี้ยง) ซีพีเอฟยโสธร เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างคล่องตัว และผลก็เป็นอย่างที่ทั้งสองตั้งใจไว้

จากความใส่ใจในการเลี้ยงของทั้งสองคนที่ตัดสินใจดูแลหมูทั้งหมดเองโดยไม่ได้จ้างคนงาน และได้ดำเนินการทั้งระบบการเลี้ยง การป้องกันโรคตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตอยู่ในระดับดีมาก หมูโตเร็ว สุขภาพดี น้ำหนักจับออกสูง เปอร์เซ็นต์เสียหายต่ำ โดยฟาร์มนี้ยังวางแผนที่จะติดตั้งระบบวงจรปิดที่จะเข้ามาดูแลทั้งตัวสัตว์ ระบบควบคุมอุณหภูมิ-ความชื้นภายในโรงเรือน และการป้องกันโรค รวมถึงเปลี่ยนระบบให้อาหารเป็น Auto Feed ในเร็ว ๆ นี้

“เราอยากให้อาชีพเลี้ยงหมู กลายเป็นอาชีพที่สามารถส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูก ๆ ทั้งสองคน เราปูพื้นฐานให้กับพวกเขาตั้งแต่เด็ก ๆ ชวนเขาให้มีส่วนร่วมในการดูแลหมูมาตั้งแต่สมัยเลี้ยงหมูหลังบ้าน ทำให้เขารักและผูกพันกับอาชีพนี้ ทุก ๆ ปิดเทอมลูก ๆ อยากกลับบ้านมาอยู่ด้วยกัน มาช่วยพ่อแม่ดูแลหมู เพียงเท่านี้เราก็ภูมิใจในตัวเขามากแล้ว และเชื่อว่าลูก ๆ จะพร้อมรับมรดกนี้ไปต่อยอดอาชีพที่มั่นคงของเขาได้ในอนาคต” พิรุณ บอกอย่างภูมิใจ

จากใจคนรุ่นใหม่ กับอาชีพ “คนเลี้ยงหมู”

กลับมาที่ภารกิจดูแลน้องหมูของท๊อปกันบ้าง เขาบอกว่า ในแต่ละวันกิจกรรมเริ่มกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยจะเตรียมตัวเข้าฟาร์มที่อยู่ห่างไปจากบ้านประมาณ 4 กิโลเมตร และก่อนจะเข้าในพื้นที่ฟาร์มต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคและอาบน้ำสระผม พร้อมเปลี่ยนชุดฟอร์มที่ใส่เข้าภายในฟาร์มไม่ปะปนกัน เรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่ทุกฟาร์มของบริษัททำเหมือนกันทั้งหมด ถือเป็นพื้นฐานการป้องกันโรคที่ทุกคนต้องทำอย่างเคร่งครัด

หลังจากเข้าฟาร์มแล้ว ท๊อปจะมุ่งหน้าเข้าไปในเล้าหมู เริ่มจากการทำความสะอาดคอกหมูที่มีทั้งหมด 32 คอก ความจุคอกละ 40 ตัว เขาบอกว่าหมูเป็นสัตว์ที่รักความสะอาด และด้วยระบบที่ดีในคอกที่มีส้วมน้ำทำให้คอกสะอาด มีการแบ่งโซนชัดเจนทั้งโซนที่ให้อาหาร ที่นอน ที่ขับถ่าย ทำให้ตัวหมูสะอาด การดูแลจึงไม่ยุ่งยากแถมยังช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำ และเมื่อหมูอยู่อย่างสบายก็ไม่ป่วย ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ส่งผลให้ได้หมูที่ปลอดสาร ปลอดโรค และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค นอกจากงานดูแลความสะอาดของหมูทั้งหมดแล้ว ยังมีงานให้อาหารที่จะให้อาหารตามสูตรอาหารที่เหมาะสมกับหมูแต่ละช่วงอายุ จนกว่าจะถึง 6 เดือน ได้อายุจับออกซึ่งบริษัทจะรับผิดชอบเป็นตลาดให้เกษตรกรทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้

หลังจากงานเลี้ยงหมูแล้ว ท๊อปจะใช้เวลากับการช่วยงานที่ร้านขายต้นไม้ของคุณย่า และยังรับผิดชอบดูแลสวนและทำความสะอาดรอบบ้านอย่างตั้งใจไม่มีอิดออด เขาบอกว่า ความมุ่งมั่นของตนเองคือ การได้ทำหน้าที่ของลูกที่ช่วยเหลือพ่อแม่และครอบครัว เขาหวังว่าหลังจากจบวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แล้วจะได้กลับมาสานต่อกิจการเลี้ยงหมูและมุ่งมั่นพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นตามรอยของพ่อแม่ที่ได้วางรากฐานไว้อย่างดี

จากใจคนรุ่นใหม่ กับอาชีพ “คนเลี้ยงหมู”

ทั้งหมดนี้คืออีกแง่มุมดี ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักในอาชีพเกษตรกร บนวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยมุมมองของคนที่มีหัวใจกตัญญู และอยากพัฒนาอาชีพของครอบครัวให้มั่นคงยั่งยืน