เตือนผู้ส่งออกอย่าฉวยโอกาส แอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทย

21 มี.ค. 2564 | 09:54 น.

กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าป้องกันการสวมสิทธิและลงโทษผู้ส่งออกที่นำเข้าผลไม้ โดยเฉพาะส้มโอจากประเทศเพื่อนบ้านมาแอบอ้างเป็นส้มโอไทยแล้วส่งออกไปประเทศจีน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของส้มโอไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตร ว่ามีการนำเข้าส้มโอจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ (Repacking) สวมสิทธิเป็นส้มโอไทยและส่งออกไปยังประเทศจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น เข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยใช้ไทยเป็นฐานการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของส้มโอไทย

เตือนผู้ส่งออกอย่าฉวยโอกาส  แอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทย

ซึ่งเพื่อป้องกันการสวมสิทธิผลไม้ไทย และป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด กรมฯ จึงได้ดำเนินการเพิ่มสินค้าส้มโอในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ เข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น สำหรับประเภทสินค้าส้มโอที่ถูกสวมสิทธินั้น ประกอบด้วย ส้มโอสดหรือแห้ง (FRESH OR DRIED POMELO) พิกัดศุลกากร 0805.40 ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ทุกประเภท สำหรับสินค้าส้มโอดังกล่าว โดยให้ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองฯ ต้องระบุข้อความยืนยันแหล่งที่มาของส้มโอในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯ เพิ่มเติมลงในแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร (สินค้าพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 01-24) ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

 

 

 

การดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าผลไม้ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่า ผลไม้ที่ส่งออกจากไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นในมาตรฐาน ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยในตลาดโลกอีกด้วย ซึ่งในกรณีที่ได้รับการร้องเรียนเรื่องส้มโอ กรมฯ ได้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

เตือนผู้ส่งออกอย่าฉวยโอกาส  แอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทย

จากสถิติการส่งออกส้มโอสดและแห้งของไทย ปี 2563 ปริมาณรวม 20,288.10 ตัน มูลค่า 669.67 ล้านบาท ปริมาณลดลงร้อยละ15.19 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกปริมาณรวม 23,922.49 ตัน มูลค่า 513.30 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน (46.90%) ฮ่องกง (22.81%) และลาว (12.83%) ตามลำดับ

นอกจากนี้ กรมกำลังเฝ้าระวังสถานการณ์การสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนในภาพรวม และอาจมีการยกระดับกำหนดมาตรการเข้มงวดขึ้น เพื่อป้องปรามการส่งออกในลักษณะแอบอ้างดังกล่าว ในระยะต่อไป