12 ปี ไทย โชว์สำเร็จปลอดโรค “ไข้หวัดนก”

15 ธ.ค. 2563 | 08:50 น.

​​​​​​กรมปศุสัตว์ ยัน นับตั้งแต่ปี 51 ไทยไม่พบการระบาดของไข้หวัดนก 12 ปีแล้ว ระดมพลเจ้าหน้าที่บูรณาการด้านสุขภาพสัตว์ เน้นรู้โรคเร็ว คุมเร็ว สงบโรคได้เร็ว พ่วงการถอดบทเรียน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เกิดในประเทศเกาหลีใต้ในขณะนี้ ทางกรมปศุสัตว์ ไม่ได้ประมาท แม้ว่า “ประเทศไทย” ถือว่าเป็นหนึ่งในเอเชียเพราะประเทศไทยไม่พบการระบาดของ "โรคไข้หวัดนก" ตั้งแต่ปี2551 รวมระยะเวลา 12 ปี เพราะมีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน เพราะเป็นโรคสัตว์ติดต่อคน และมีการเฝ้าระวังในแนวชายแดนอย่างเข้มงวดและการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ และมีการตรวจในนกอพยพและนกธรรมชาติ ทำงานกันแบบสุขภาพหนึ่งเดียว(One Health)

 

“งานด้านสุขภาพสัตว์”  เป็นภารกิจที่มีความสําคัญมากภารกิจหนึ่งของกรมปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบันงานด้านสุขภาพสัตว์ มีภารกิจมากขึ้น โดยมีทั้งการส่งเสริม และการปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ให้สัตว์สุขภาพดี การเฝ้าระวัง ป้องกันโรค และควบคุมโรค และพัฒนาต่อยอดไปจนถึงระดับฟาร์มปลอดโรค และเขตปลอดโรค ซึ่งต้องอาศัยกลยุทธ์ต่างๆในการผลักดันให้ มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกัน งานด้านสุขภาพสัตว์ของประเทศไทย ได้มีการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก จะเห็นได้ชัดจากผลการประเมินของ OIE PVS รวมถึงการควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และกาฬโรคแอฟริกาในม้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลงานและฝีมือของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจกัน

 

 

12 ปี ไทย โชว์สำเร็จปลอดโรค “ไข้หวัดนก”

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานด้านสุขภาพสัตว์ การเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกัน โรคระบาดจะสําเร็จลุล่วงไปได้ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่รอบด้าน การระดม ความคิดเห็น การถอดบทเรียน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อ นํามากำหนดมาตรการ แนวทางการปฏิบัติงาน ผลักดันภารกิจด้าน สุขภาพสัตว์ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ได้สั่งการเข้มให้ทุกพื้นที่เร่งดำเนินการตามมาตรการควบคุม เฝ้าระวัง และกำจัดโรค เน้นการสืบสวนทางระบาดวิทยาทุกกรณี เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ลงพื้นที่แก้ปัญหาได้ทันที รายงานสถานการณ์การเกิดโรคอัพเดตในทุกวันประชาสัมพันธ์การป้องกันและควบคุมโรค พยากรณ์และคาดการณ์ระยะเวลาการควบคุมโรค และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือสร้างเครือข่ายในพื้นที่ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานในการควบคุมโรคตามมาตรการที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด ตามหลัก "รู้เร็ว คุมเร็ว สงบโรคได้เร็ว"