เมื่อ เทสโก้ โลตัส กลับสู่มือคนไทย

02 ส.ค. 2563 | 09:04 น.

ประวัติศาสตร์ 27 ปี ของตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต กำลังจะกลับมาสู่มือคนไทยเป็นเจ้าของอีกครั้ง พลิกตำราค้าปลีกเปิดโอกาสรายย่อย สู้และเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน

หลังกลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ชนะการประมูลเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยวงเงิน 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.38 แสนล้านบาท แต่ดีลดังกล่าวถูกมองว่า เป็นการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการ ผูกขาด หรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

 

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษติดตามการรวมธุรกิจ กรณีห้างเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย อย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาและจัดเตรียมข้อมูลโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาผลที่คาดว่า จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการดังกล่าว

 

ล่าสุด ซีพี ยื่นเอกสารให้กขค. แล้ว เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม .แต่ทาง กขค.ระบุว่า ข้อมูลยังไม่ครบ จึงให้ซีพี ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้อีก แต่ ซีพียังไม่ได้ยื่นข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งหากซีพีส่งข้อมูลครบ กขค.จะเริ่มพิจารณาและต้องสรุปภายใน 90 วันว่า การกรณีห้างเทสโก้โลตัสในไทยจะเข้าข่าย การผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

เมื่อ เทสโก้ โลตัส กลับสู่มือคนไทย

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไป 28 ปีที่แล้ว  ประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ไฮเปอร์มาร์ท อย่างโลตัส หรือ บิ๊กซี ซึ่งต้องอาศัยคนใจกล้ามาบุกเบิกตลาดในประเทศไทย ที่มีปัจจัยเสี่ยงมากมายในช่วงเวลานั้น กลุ่ม ซีพี ได้ริเริ่ม เปิดโลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์  Lotus Supercenter ที่ศูนย์การค้า ซีคอนสแควร์ และขยายตัวเรื่อยมา กระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อตอนปี 2540 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากอยู่ไม่รอด หลายรายต้องเลิกกิจการ ขณะที่อีกหลายรายก็ต้องขายกิจการให้กับเจ้าใหญ่ไป เสมือนกับการเสียเอกราชด้านไฮเปอร์มาร์ทไปให้กับธุรกิจในต่างประเทศ

 

อาทิ  เซ็นทรัลที่ขายหุ้นใน  Carrefour  คืนให้บริษัทแม่จากฝรั่งเศส และ ซีพี ก็ขาย Lotus ให้กับ Tesco จากอังกฤษ จนกลายมาเป็น Tesco Lotus เท่ากับว่า วิกฤติในครั้งนั้น ทำให้เหลือผู้เล่นใหญ่ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 ราย คือ Big C, Carrefour และ Tesco Lotus โดยมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ  โดยในช่วงเวลานั้น  Casino Group จากฝรั่งเศสเข้ามาเพิ่มทุนใน Big C ของเซ็นทรัล จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Big C

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไล่บี้‘ซีพี’ซื้อโลตัส SMEs-โชห่วยจ่อตาย

เจ้าสัวธนินท์ แนะปรับตัวรับท่องเที่ยวยุคโควิด

 

ประวัติศาสตร์ 27 ปีของตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต กำลังจะกลับมาสู่มือคนไทยเป็นเจ้าของอีกครั้ง หลังกลุ่มซีพี ประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย แต่ยุคปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการออนไลน์มากยิ่งขึ้น ธุรกิจค้าปลีก ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก ทำให้ตลาดการแข่งขันในวันนี้ ต้องนับรวมผู้เล่นในตลาดออนไลน์มาแข่งขันด้วย การส่งถึงบ้าน การขยายร้านไปทุกมุมถนนของร้านอาหารเช่น Mcdonald, Starbuck, Burgerking ล้วนเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

 

ทำให้การแข่งขันในตลาดไฮเปอร์มาร์ทในยุคปัจจุบัน ต้องพลิกตำรากันอย่างมาก และถือเป็นแพลตฟอร์มการค้าหลัก ในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย เถ้าแก่เล็ก กลาง ใหญ่ ได้ใช้ช่องทางไฮเปอร์มาร์ท ในการเปิดตลาด สู้กับผู้เล่นจากต่างประเทศ ที่ขยายช่องทางเข้ามาสู่ตลาดเมืองไทยเป็นอย่างมาก

 

รวมถึงยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ รายงานผลประกอบการประจำปีสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1919 ผลการดำเนินการก่อนหักภาษีขาดทุนถึง 6.4 พันล้านปอนด์ หรือ 3.1 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่กำไรก่อนหักภาษีที่ 2.26 พันล้านปอนด์ ซึ่งก่อนหน้านั้นบริษัทได้ทยอยขายกิจการในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น จีน รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา หลังจากประสบปัญหาใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากคู่แข่งค้าปลีกในยุโรป บริษัทมีหนี้มหาศาล

ทำให้การกลับมาสู่มือคนไทยนั้น ต้องใช้มืออาชีพในการบริหาร และ เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเป็นช่องทางค้าปลีก

 

ตลาดไฮเปอร์มาร์ทในไทย อาจมองได้ว่า เทสโก้ โลตัส เติบโตเคียงคู่กับสังคมไทย พร้อมกับให้ความสำคัญในการสร้างประโยชน์และใส่ใจดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพนักงาน ลูกค้า ชุมชน คู่ค้า และสิ่งแวดล้อม ความใส่ใจเหล่านี้อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของชาวเทสโก้ โลตัสอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ กลุ่มซีพี ยังมีประสบการณ์ในการบริหารโลตัสในประเทศจีน ทำให้ผสมผสานประสบการณ์ที่สั่งสมมาช่วงโลตัสอยู่ในมือของเทสโก้ ทำให้รูปแบบบริหารเป็นการต่อยอด ที่ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้ประโยชน์ และช่วงที่ผ่านมา กลุ่มซีพียัง ได้ผลักดันเรื่องความยั่งยืนอย่างหนัก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเทสโก้ โลตัส ซึ่งที่ผ่านมามีการยกระดับการทำงานในด้านความยั่งยืน จากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่ระดับนโยบายที่ถูกผนวกเข้ากับแผนการดำเนินงานทางธุรกิจและไม่สามารถแยกออกจากกันได้

 

ฉะนั้นที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (sustainable sourcing) ที่คำนึงถึงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร นอกจากจะต้องมีคุณภาพสูง ทำจากวัตถุดิบที่ดี มีรสชาติอร่อย มีราคาที่เอื้อมถึงได้แล้ว จะต้องดีต่อสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของกลุ่มซีพี ที่เดินหน้าเรื่องอาหารปลอดภัย

 

ส่วนเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระยะยาว จะได้มีการนำมาขับเคลื่อน อาทิเช่น 1.การจัดหาผลิตภัณฑ์ผักใบพื้นบ้านทั้งหมด 100% จะมาจากการซื้อตรงจากเกษตรกร และ 2. ด้านสุขภาพ สินค้าประเภทอาหารที่พัฒนาขึ้นมาร่วมกับผู้ประกอบการรายย่อยใหม่ทั้งหมดจะต้องดีขึ้นต่อสุขภาพผู้บริโภค 3. เรื่องบรรจุภัณฑ์ จะต้องทำมาจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ และ 4. ลดการทิ้งอาหารภายในธุรกิจของโลตัสลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง เป็นต้น