UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล

19 ก.ค. 2563 | 05:27 น.

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เขียนบทความเรื่อง UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล มีใจความสำคัญดังนี้

 

อนุสัญญาระหว่างประเทศ UPOV 1991 ปกป้องเฉพาะเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นเมล็ดพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ไม่มีผลต่อเมล็ดพันธุ์พืชที่ขายมาแล้วนานกว่า 1 ปี อันได้แก่พันธุ์พืชดั้งเดิม พันธุ์พืชท้องถิ่น พันธุ์พืชป่า ฯลฯ 

UPOV 1991 เป็นความตกลงระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ที่ดีกว่าเก่า เช่นให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่า ต้นทุนต่ำกว่า ทนต่อโรคดีกว่า ทนต่อความแห้งแล้วดีกว่า ทนทาน ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์พืชเก่า ฯลฯ  โดยให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของนักวิจัยพันธุ์พืช เพื่อเป็นแรงจูงใจให้วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ โดยได้กำหนดให้เมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองเหล่านี้ต้องเป็นของใหม่จริง ๆ ไม่เคยมีมาก่อน ต้องมีลักษณะของพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่แตกต่างอย่างชัดเจน  ต้องไม่เคยถูกขายหรือให้ แก่บุคคลอื่นในประเทศในระยะเวลา 1 ปี ต้องมีความสม่ำเสมอและความคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์

 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เกษตรกรไทยจึงไม่ต้องกังวลเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ใช้กันอยู่ เว้นแต่สนใจจะนำเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่า ที่ได้รับการคุ้มครองไปปลูก เพราะเห็นว่าเมื่อนำมาปลูกแล้ว จะมีรายได้ดีกว่า กรณีนี้เกษตรกรก็สามารถเก็บผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์ใหม่ เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ใหม่นี้ไปใช้ปลูกในพื้นที่ตนเองในฤดูกาลใหม่ในปีต่อ ๆ ไปได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะละเมิดสิทธิของเจ้าของเมล็ดพันธุ์ใหม่นั้นตราบเท่าที่เกษตรกรนำไปปลูกในที่นาของตนเอง ไม่นำไปขายให้ผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ทางพาณิชย์

 

UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล

 

ส่วนความกังวลว่าบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่จะเข้ามาครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์และทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงหรือไม่นั้น ไม่น่าใช่ เพราะว่าหากเมล็ดพันธุ์ใหม่นั้นดีจริง ได้รับความนิยมมากเพราะให้ผลผลิตสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ เกษตรกรพอใจที่จะนำมาใช้แทนเมล็ดพันธุ์เดิมเพราะเห็นว่าใช้แล้วได้รายได้มากกว่า กำไรมากกว่า เช่นนี้ก็เป็นทางเลือก ดังนั้น การกำหนดราคาเมล็ดพันธุ์ใหม่ของเจ้าของพันธุ์ย่อมต้องไม่แพงเกินกว่าจะนำมาปลูกแล้วทำกำไรได้ หากปลูกแล้วทำกำไรไม่ได้ เมล็ดพันธุ์ใหม่นี้ก็จะไม่ได้รับความนิยม เกษตรกรก็สามารถเลือกที่จะไม่ซื้อเพื่อนำไปใช้ได้ ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ

 

UPOV 1991 จึงไม่น่ากลัว เพราะความกังวลทั้งหมดนี้ล้วนมีคำตอบ และคำตอบที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อไทยเข้า UPOV 1991 รัฐบาลไทยควรต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่องานวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ไทยให้หันมาวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช

 

ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปจำนวนมาก โดยปี 2562  เราส่งออกไปมีมูลค่ากว่า  1.328 ล้านล้านบาท จึงควรจัดสรรงบอย่างน้อยร้อยละ 1 คือ 1.3 หมื่นล้านบาทในแต่ละปีเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกันนี้ อันที่จริง หากรัฐบาลไทยที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรต่ำลง ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพดีกว่าเดิมทำให้สามารถขายแข่งกับนานาประเทศได้ เช่นนี้ เกษตรกรไทยก็ได้มีสินค้าเกษตรที่แข่งขันได้ทั้งคุณภาพและราคา ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลเองก็ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณประกันรายได้ให้เกษตรกร หรือทำโครงการรับจำนำข้าวอย่างเช่นที่ได้ทำมาด้วยงบประมาณจำนวนมาก

 

ตัวอย่างเช่นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรไทยปลูกกัน ไม่ได้ให้ผลผลิตมากเท่าเมล็ดพันธุ์ข้าวของเวียดนาม  ทั้ง ๆ ที่ไทยเองปลูกข้าวและขายส่งออกไปต่างประเทศมานานกว่าเวียดนามนานหลายสิบปี ทุกวันนี้ตลาดข้าวไทยในต่างประเทศถูกเวียดนามแย่งไปแซงไปเป็นอันดับ 2  ไทยเป็นอันดับ 3 เพราะข้าวของเวียดนามดีและมีราคาถูกกว่า ข้าว 5% ของไทยแพงกว่าเวียดนามโดยเฉลี่ยประมาณ 10% เพราะผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรเวียดนามสูงกว่า ต้นทุนจึงต่ำกว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศชาติใช้เงินไปมากกว่า 8 แสนล้านบาทอาจไม่จำเป็นต้องมีหากรัฐบาลในอดีตรู้จักเน้นงานวิจัยและพัฒนา และงบประกันรายได้สินค้าเกษตรอื่น ๆ ทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก

 

เหตุผลนี้น่าจะจูงใจให้เห็นว่า ในโลกแห่งการแข่งขันทุกวันนี้ เราต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา พัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อเมื่อนำมาปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี คุณภาพดี ต้นทุนต่ำ แข่งขันในตลาดโลกได้ ถ้าไทยเราได้มีแนวทางอย่างนี้ เรายิ่งต้องเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยเร็วเพื่อปกป้องผลงานวิจัยของเราไม่ให้ประเทศอื่น ๆ ขโมยไป เมื่อไทยร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) เขาให้เวลาไทยยาวนานถึง 4 ปี ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV 1991แต่หากเราส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา มีผลงานที่เด่นกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะเรามีหลากหลายพันธุ์พืชในไทยมากกว่า เราอาจต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV 1991 เร็วกว่า 4 ปีด้วยซ้ำไป

 

ไทยมีความจำเป็นต้องร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพราะว่าการเข้าร่วมจะทำให้ไทยเป็นแหล่งลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ การลงทุนจากต่างชาติเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมาตลอดกว่า 60 ปี เพราะเงินที่ต่างชาตินำมาลงทุนในไทย ทำให้เกิดการสร้างงาน เกิดการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เมื่อสร้างงานให้คนไทยมีงานทำ คนไทยก็มีเงิน มีความสามารถในการบริโภคสินค้าและบริการ มีเงินไปสร้างธุรกิจของตนเอง รัฐก็มีรายได้จากภาษีต่าง ๆ นำไปสร้างสาธารณูปโภคนานัปการ บริการทางการแพทย์ ทางสังคม ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตจากจีดีพีไทยที่เคยมีมูลค่าเพียง 7,792 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 155,840 บาทในปี 1960(พ.ศ.2503) คนไทยมีรายได้เฉลี่ยเพียง 2,000 บาทต่อปีหรือไม่ถึง 180 บาทต่อเดือน เติบโตต่อเนื่องจนปี 2019 (พ.ศ.2562) จีดีพีไทยมีมูลค่ามากถึง 529,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 16.4  ล้านล้านบาท คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 241,550 บาทต่อปีหรือ 20,000 บาทต่อเดือน ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากเงินลงทุนจากต่างชาติที่มาผลิตสินค้าและบริการในไทยตั้งแต่ปี 1960 (ดูรูป)

UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่ด้วยผู้บริหารประเทศที่ฉลาดกว่าของไทย ได้พัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันที่ไทยเคยได้ทำมาก่อนแต่ทำได้ดีกว่า ปัจจุบันการผลิตสินค้าในเวียดนามสามารถส่งสินค้าออกไปได้มากถึง 60 ประเทศในอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ จากการทำความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) เทียบกับไทยที่ส่งออกได้ในทำนองเดียวกันเพียง 18 ประเทศ  ในอดีตเพราะค่าแรงงานเวียดนามถูกกว่าไทย

 

แต่ทุกวันนี้หากพิจารณาอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงงานในเวียดนามที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ค่าแรงงานไทยขึ้นน้อยมากตั้งแต่ปี  2555 และมีแนวโน้มอย่างนี้ต่อไปอีกหลายปี คือค่าแรงงานไทยไม่ขึ้นแต่ค่าแรงงานเวียดนามขึ้นเร็ว นักลงทุนต่างชาติก็ต้องเห็นได้ว่า ภายใน 4 ปี ค่าแรงงานเวียดนามจะเท่ากันกับหรือมากกว่าค่าแรงงานไทย ค่าแรงจึงไม่ใช่ปัจจัยที่นักลงทุนเห็นว่าสำคัญอีกต่อไป ยิ่งวิกฤติโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเสียหาย การบริโภคลดลง คนตกงานจำนวนมาก ปัจจัยเรื่องตลาดจึงต้องมาก่อนปัจจัยอื่น ๆ

 

ดังนั้น แม้อีก 4 ปี เวียดนามมีค่าแรงสูง แต่ก็ยังคงเป็นประเทศที่ต่างชาติเห็นว่าน่าลงทุนมากกว่าไทย ยิ่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ความตกลงเอฟทีสหภาพยุโรป-เวียดนาม(EVFTA)เริ่มมีผลบังคับใช้ เชื่อว่าผู้ผลิตที่หวังส่งออกไปสหถาพยุโรป(อียู)ย่อมลงทุนผลิตสินค้าในเวียดนาม ไม่มาลงทุนในไทยอย่างแน่นอน 6 เดือนแรกปีนี้ มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) เข้าเวียดนามน้อยกว่า 6 เดือนแรกปีที่แล้วราว 50% แต่ก็ได้รับแล้วมากเท่ากับเงินลงทุน FDI ที่เข้าไทยทั้งปี 2562

 

จากรูปจะเห็นว่าปี 2019 เวียดนามได้รับ FDI มากถึง 38,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตั้งแต่ปี 2014-2019 เงินลงทุนที่เข้าไปเวียดนามเปรียบเทียบกับไทยแล้วต่างกันมาก รวมแล้วไทยได้รับเพียง 47,157 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เวียดนามได้มากถึง 101,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็ว คนเวียดนามร่ำรวยขึ้นเร็ว และแน่นอน สาธารณูปโภค การศึกษา สังคมล้วนปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล

 

เศรษฐกิจไทยภายใต้วิกฤติโควิด-19 น่าเป็นห่วง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สคช.) ชี้ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้แรงงานไทยมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน โดยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน ภาคบริการที่ไม่ใช่ท่องเที่ยว 4.4 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรมจะมีคนว่างงาน 1.5 ล้านคน  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2562  มี 39.79 ล้านคน ปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าจะเหลือเพียง 8 ล้านคน หนี้เสียมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น หนี้สินภาครัฐ 55% ของ GDP และจะกลายเป็น 60% ของ GDP ในเร็ววัน หนี้ครัวเรือนมีมากกว่า 85% ของ GDP เวลานี้ 15 ล้านคนอยู่ระหว่างขอพักหนี้ ตอนนี้แบงก์ยังพักชำระหนี้ให้ 6 เดือน หลังครบกำหนดจะมีกี่รายที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ GDPไทย 16.3 ล้านล้านบาทในปี 2562 ธปท.คาดการณ์ปีนี้หดตัว 8.1% GDP ไทยจะเหลือประมาณ 15 ล้านล้านบาท

 

ธปท.คาดการณ์ส่งออกสินค้าปีนี้ -10.3% Y-Y  การบริโภคภาคเอกชนหดตัว       -3.6% ลงทุนภาคเอกชนหดตัว -13% โรงงานปิดกิจการช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 62-21 มิ.ย. 63) ทั้งหมด 4,254 แห่ง ลูกจ้างตกงานแล้วรวม 853,696 คน เดือนเมษายนที่ผ่านมาเดือนเดียวมีการยื่นขอปิดกิจการสูงถึง 2,456 แห่ง ลูกจ้างตกงานเดือนเดียว 472,855 คน และในเดือนถัดไปจากนี้จะมีโรงงานปิดตัวลงอีกมากมาย คนตกงานจะเพิ่มขึ้นอีก เราจึงต้องหวังให้มีต่างชาติเข้ามาลงทุน FDI  ทุกวันนี้ต่างชาติที่ลงทุนแล้วในไทยก็ปิดกิจการหนีออกไปจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่เคยออกมาให้ข่าว  ส่วนที่จะเข้ามาใหม่ก็มีไม่มากเหมือนอย่างที่บีโอไอประกาศ แต่ละปีที่เข้ามาลงทุนจริงมีเพียง 20-25% ของที่บีโอไอประกาศออกมา เมื่อการลงทุน FDI หนีออกไป แน่นอนคนไทยโดยเฉลี่ยจนลง และGDP ก็ลดลง

 

การเข้าร่วม CPTPP ย่อมมีธุรกิจที่ได้และที่เสีย ในการค้าเสรี ย่อมมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ชนะ (winders) และผู้แพ้ (losers) ผู้ชนะเห็นวิกฤติเป็นโอกาส รู้จักปรับตัว มีวิวัฒนาการไปตามความเปลี่ยนแปลง คำว่าวิกฤติในภาษาจีน เรียกว่า

UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล

อ่านว่า เหวยจี อักษรตัวแรก “เหวย” มาจาก เหวยเสี่ยน UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล  แปลว่า อันตราย ตัวที่สอง “จี” มาจาก จีฮุ่ย UPOV 1991 ไม่น่ากลัว เกษตรกรไทยไม่ต้องกังวล แปลว่า โอกาส รวมกันสองคำแปลว่า ในวิกฤติมีโอกาส คนจีนใช้สองคำนี้เมื่อกล่าวถึงวิกฤติ เมื่อไทยร่วม CPTPP ย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ชนะย่อมเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะขยายตลาด เพราะผู้แพ้ต้องถอยออกไป ขณะที่ตลาดใหญ่ขึ้น สร้างโอกาสให้มีมากขึ้น แต่ผู้แพ้ย่อมมีมุมมองต่างกันคือต้องขัดขวางการเปลี่ยนแปลง เพราะเห็นว่าตนต้องพ่ายแพ้ จึงคัดค้าน เมื่อคิดว่าต้องแพ้แต่แรก โอกาสชนะจึงไม่มี หากคิดว่าชนะได้ โอกาสชนะจึงมี นักธุรกิจมักเป็นเช่นนี้ ในกิจการเดียวกัน บางรายทำแล้วก็เจ๊ง บางรายทำแล้วรวยขึ้น ๆ ทั้งนี้เพราะสามารถวิวัฒนาการปรับตัวต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกขณะ

 

ประเทศอื่นที่ประกาศว่าสนใจเข้าร่วม CPTPP มีหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐฯ ไต้หวัน โคลัมเบีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และจีน ทำให้เห็นได้ว่า จะมีตลาดส่งออกมากขึ้น หากจีนร่วม CPTPP  ความตกลงนี้เดิมเป็น TPP มีเพื่อสกัดกั้นจีน ทำลายเศรษฐกิจจีน เป็นความพยายามของสหรัฐฯที่จะทำลายจีน จีนจึงต้องพิจารณาร่วมเวลานี้ ขณะที่สหรัฐฯยังไม่เข้าร่วม เพื่อว่า CPTPP จะไม่ใช่วาระกีดกันจีนอีกต่อไป ไทยเองก็ควรเข้าไปเจรจาเข้าร่วม CPTPP เดือนสิงหาคมนี้ ไม่ควรรอปีหน้าเข้าพร้อมสหรัฐฯ เพราะว่า ภายใต้ CPTPP ประเทศสมาชิกได้นำเอาความตกลงอันเป็นข้อกำหนด 22 ข้อที่มีใน TPP ออกไป 22 ข้อกำหนดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่สหรัฐฯต้องการ เอาเปรียบนานาประเทศ หากไทยเข้าร่วมเวลานี้ นับได้ว่าก่อนสหรัฐฯ เมื่อสหรัฐฯจะเข้ามาปีหน้าย่อมทำให้ไทยที่เป็นสมาชิกเก่าสามารถเรียกร้องร่วมกันกับสมาชิกอื่น ๆ ให้คง 22 ข้อนี้ไว้ หรืออย่างน้อยหากจะถูกบังคับให้นำมาใช้ก็อาจเรียกร้องต้องให้ไทยมีเวลาปรับตัวนานขึ้นเช่น 5 ปี หรือ 10 ปี

ตัวอย่างข้อกำหนด 22 ข้อเหล่านี้ เช่น ไม่ให้สิทธิบัตรใหม่กับยาเก่าที่พบว่าสามารถนำไปใช้รักษาโรคใหม่ได้ หรือพบวิธีใหม่ในการใช้ยาเก่า ไม่คุ้มครองข้อมูลทดสอบยา 5 ปี (data exclusivity) ไม่ยืดเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาอันเนื่องมาจากเกิดการล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา ไม่ขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ บทประพันธ์ ฯลฯ จาก 50 ปีเป็น 70 ปี จำกัดสิทธินักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาล หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำให้ฟ้องร้องรัฐไม่ได้ เหตุนี้จึงทำให้มีสิทธิบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) เป็นไปตามกรอบความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก(WTO) เป็นต้น

 

อนึ่ง หากว่าเมื่อไทยเข้าไปเจรจาแล้ว ปรากฎว่าผลการเจรจาออกมาไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ คำนวณแล้วจะเสียมากกว่าได้ ไทยก็สามารถไม่เข้าร่วมได้ ควรพิจารณาว่า การเข้าไปร่วมเจรจาเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทยได้มีเหตุผลที่จะคงโรงงานไว้ในไทย ไม่ต้องรีบย้ายออกไปเวียดนาม เพราะมีข่าวระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ไปลงทุนในการก่อสร้างสาธารณูปโภคในเวียดนามด้วยเงินจำนวนมาก ส่งสัญญาณให้นักลงทุนญี่ปุ่นไปลงทุนผลิตสินค้าและบริการในเวียดนาม และผู้แทนจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้บอกไทยแล้วว่า “หากไทยร่วม CPTPP  จะช่วยทำให้การลงทุน FDI เพื่อการผลิตสินค้าของบริษัทญี่ปุ่นคงไว้ในประเทศไทยได้”