“เดอะ มอลล์” ยกเครื่องใหม่ สู้ศึกค้าปลีกแข่งเดือด

19 ก.ค. 2563 | 08:25 น.

คลื่นการเปลี่ยนแปลงที่โถมเข้ามา ทั้งจากเทคโนโลยี การขยายตัวของสังคมเมือง โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้ “ธุรกิจค้าปลีก” ต้องเร่งปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เข้าใจ เข้าถึง เจาะลึกความต้องการของลูกค้า เช่นเดียวกับ “เดอะ มอลล์ กรุ๊ป” ที่ลุกขึ้นขยับตัวครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี

ยกเครื่องโครงสร้างองค์กร

หลังมีข่าวการปรับขุนพลครั้งใหญ่ ล่าสุดเดอะมอลล์ กรุ๊ปเปิดเผยถึงการปรับกระบวนทัพที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ “M Transformation” โดยมี “ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป เป็นแม่ทัพใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันเกษียณและไม่ได้รับการต่อสัญญาแล้ว)ด้วยเป้าหมายสร้างความมั่นคง ยั่งยืนทางธุรกิจ การมี “มืออาชีพ” ที่จะเดินหน้าองค์กรสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ พร้อมกับภารกิจในการปั้น “คนรุ่นใหม่” เพื่อมาเป็นกองหนุน จากวันนั้นถึงวันนี้ “เดอะ มอลล์ กรุ๊ป” กว้านมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพจำนวนมาก อาทิ Laurent Chemla จาก ลาฟาแยต , Luc Charrier จากคาสิโน กรุ๊ป, Rob Cissell จากวอลล์มาร์ท , William Rithirueng จากจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ฯลฯ

 

“เดอะ มอลล์” ยกเครื่องใหม่ สู้ศึกค้าปลีกแข่งเดือด

โครงสร้างองค์กรใหม่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มศูนย์การค้า (RE) ดูแลธุรกิจศูนย์การค้า, ออฟฟิศบิวดิ้ง, มิกซ์ยูส, ลิสซิ่ง, บิสิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ ฯลฯ 2.กลุ่มรีเทล (TR) ดูแลธุรกิจค้าปลีก , โอเปอเรชั่น และการตลาด และ 3. กลุ่มบัญชีและการเงิน (FA) ดูแลด้านการเงิน บัญชี และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มได้ลูกหม้อฝีมือดี นั่งคุมบังเหียน

 

ดึงเจน 3 เสริมทัพ

นอกจากการมี “มืออาชีพ” มาบริหาร การดึงทายาทของตระกูล “อัมพุช” เข้ามาสานต่องาน ก็มีความจำเป็นมาก โดยเจนเนอเรชั่น 3 ที่ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ในวันนี้ ประกอบด้วย วิภา-พลอยชมพู-พลิน อัมพุช และวรามาศ ภัทรประสิทธิ์ ถือเป็นการผสมผสานเลือดเก่า และเลือดใหม่ให้เกิดการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ กับการเป็นส่วนหนึ่งของเดอะ มอลล์ กรุ๊ปที่มีทัพพนักงานกว่า 1.2 หมื่นคน และทีมผู้บริหารอีกราว 400 คน

“โครงสร้างองค์กรใหม่นี้เพื่อให้มีการทำงานอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยอนาคตกลุ่มศูนย์การค้า จะเป็นกลุ่มที่ทำรายได้หลักให้กับองค์กรเมื่อเทียบกับกลุ่มรีเทล ในสัดส่วน 65:35 ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่รายได้หลักมาจากกลุ่มรีเทล 80% ”

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวต่อว่า หลังปรับรูปแบบการบริหารพื้นที่ภายในศูนย์จากเดิมที่เป็นการเซ้งระยะยาว มาเป็นการเช่าระยะสั้น จะทำให้บริษัทมีพื้นที่เช่ารวมกว่า 2 แสนตารางเมตร ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้องค์กรแข็งแรง และกำไรได้มากกว่ากลุ่มรีเทล

 

“เดอะ มอลล์” ยกเครื่องใหม่ สู้ศึกค้าปลีกแข่งเดือด

5 ปี ลงทุน 5 หมื่นล.

การเดินหน้าขยายการลงทุนของ “เดอะ มอลล์” แม้จะแตกต่างจากคู่แข่งอย่าง “เซ็นทรัล” ที่สยายปีกลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แต่เดอะ มอลล์ กรุ๊ป วางยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจด้วยการรุกลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ตอกยํ้าความเป็นผู้นำด้าน Strategic Location ดังนั้นบริษัทมีแผนใช้เงิน 5 หมื่นล้านบาท สำหรับเดินหน้าลงทุนในระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพให้สาขาเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ เดอะ มอลล์ ท่าพระ, บางแค , บางกะปิ และรามคำแหง รวมถึงดิ เอ็มโพเรียม

อีกส่วนเป็นการลงทุนใหม่ กับการสร้างศูนย์การค้าใหญ่ “แบงค็อก มอลล์” ซึ่งขณะนี้เริ่มก่อสร้างฐานรากแล้วกว่า 20% พร้อมเปิดเฟสแรกในปลายปี  2566 และโครงการดิ เอ็มสเฟียร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มดิ เอ็ม ดิสทริค จะเปิดให้บริการในปลายปี 2565 ขณะเดียวกันเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ยังมีแลนด์แบงก์ขนาดใหญ่อีก 5-6 แปลงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่พร้อมจะปักหมุดลงทุนได้ทันที หากสถานการณ์เหมาะสม

“ศุภลักษณ์” บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะค้าปลีกที่มีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ห้างซึ่งต้องปิดให้บริการนาน 2-3 เดือนย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายที่หายไป ดังนั้นเดอะ มอลล์เองไม่ได้คาดหวังที่จะมีกำไร เพราะรายได้หายไปกว่า 30% แม้สถานการณ์จะคลี่คลายและเริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว แต่คาดว่าทั้งปีรายได้ที่เกิดขึ้นจะยังคงติดลบไม่น้อยกว่า 15%

การยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ ถือเป็นความท้าทายที่ตระกูล “อัมพุช” จะนำพาเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ก้าวผ่านรอยต่อ และยืนหยัดแข่งขันในสนามค้าปลีกที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้นได้หรือไม่ คงต้องจับตาดูต่อไป

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,593 วันที่ 19 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563