เผยพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พร้อมใช้ ก.ย.นี้ ฟันธงบอกลาปัญหา“สปา-นวด-นาบ” ได้แน่!!

05 เม.ย. 2559 | 08:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้ (5  เมษายน 2559) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)กระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยนายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล  ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และนายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย แถลงข่าวว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้ประกาศเป็นกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2559  หลังจากใช้เวลาผลักดันมา 5 ปี  โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน คือวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2559 สาระกฎหมายมีทั้งหมด 7 หมวด และบทเฉพาะกาลรวม 49 มาตรา มั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพของไทย มีมาตรฐานและความปลอดภัย ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการทั้งคนไทยและต่างชาติ ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง  ไม่ถูกมองว่าแอบแฝงบริการทางเพศ สามารถสร้างงานและรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้ธุรกิจของไทยโด่งดังทั่วโลก มีอัตราขยายตัวร้อยละ 15 ต่อปี

กฎหมายดังกล่าว มีผลควบคุมสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้แก่ 1.กิจการสปาซึ่งให้การดูแลเสริมสร้างสุขภาพโดยใช้น้ำบำบัด นวดร่างกายเป็นหลัก และมีบริการอื่นเสริมอย่างน้อย 3 อย่าง ที่กำหนดในกิจการสปา เช่น การให้บริการด้วยความร้อน อาทิ ประคบหินร้อน อบซาวน่า (Sauna), การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ อาทิ แอโรบิค ฟิตเนส ฟิตบอล

ไทเก๊ก, โยคะ, ฤาษีดัดตน, การทำสมาธิ อาทิ นั่งสมาธิ ชี่กง เรกิ 2.กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม เช่น นวดหน้า พอกหน้า ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้สามารถที่กำหนดเป็นกฎกระทรวงในภายหลัง เพื่อใช้บังคับกำกับกิจการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาล เช่น เนิร์สซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุ และฟิตเนส ด้วย

ทั้งนี้ผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องขอรับใบอนุญาตซึ่งมีอายุ 5 ปี จากกรมสบส. ส่วนผู้ให้บริการ ต้องขึ้นทะเบียน ได้รับใบรับรองคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาที่กรมสบส.รับรอง ซึ่งขณะนี้มีกว่า 588 แห่งทั่วประเทศ ผู้ได้รับอนุญาตต้องติดใบอนุญาต และตราสัญลักษณ์ “มาตรฐาน สบส” ที่สถานประกอบการในที่เปิดเผยเห็นง่าย  ผู้ดำเนินการต้องอยู่ประจำตลอดเวลาทำการ  ทุกแห่งต้องมีคู่มือปฏิบัติงานให้บริการ การใช้เครื่องมือให้ได้มาตรฐานสะอาด ปลอดภัย

มีระบบสอบถามและบันทึกข้อมูลสุขภาพพื้นฐาน และคัดกรองผู้รับบริการ เพื่อจัดบริการที่เหมาะสมแก่สุขภาพของผู้รับบริการ และควบคุมไม่ให้ผู้ให้บริการออกไปให้บริการข้างนอกสถานประกอบการในเวลาทำงาน มีมาตรการรักษาความปลอดภัย ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ สำหรับการโฆษณาสามารถกระทำได้ตามลักษณะการให้บริการ แต่ห้ามโอ้อวดสรรพคุณอุปกรณ์ บริการ ผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ต่างๆเกินจริงว่าสามารถบำบัด รักษาหรือป้องกันโรคได้ ห้ามโฆษณาที่ส่อในทางลามกอนาจาร หากฝ่าฝืน เช่น แอบอ้างใช้ชื่อว่าเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ลักลอบเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น

สำหรับในช่วงระยะ 180 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้กรม สบส. ได้เตรียมความพร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 1 ชุด เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามกฎหมายและแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค นอกจากนี้จะประชุมชี้แจงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้าใจกฎหมาย และปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล  ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายใหม่ทุกประเภท ซึ่งคาดว่าจะมีหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ  ขอให้เตรียมความพร้อมยื่นขอใบอนุญาตประกอบการที่กรมสบส. และต้องผ่านการตรวจอนุญาตจากกรม สบส. ส่วนสถานประกอบการฯที่ได้รับใบอนุญาตมาก่อนหน้านี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ที่ออกตามพ.ร.บ.สถานบริการ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2509 จำนวน 1,609 แห่ง อยู่ในกทม. 344 แห่งที่เหลืออยู่ในภูมิภาค ประกอบด้วยสปา 509 แห่ง นวด 1,070 แห่ง และเสริมสวย 30 แห่ง  อนุโลมให้ดำเนินการต่อไปได้และให้ยื่นขออนุญาตตามขั้นตอนกฎหมายใหม่ภายใน 180 วันหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้