ต้อน 450 ล้งเข้าระบบ ป้องส่งออกผลไม้ไปจีน 8.5 หมื่นล้าน

10 มิ.ย. 2562 | 06:45 น.

 

กรมวิชาการเกษตรเร่งต้อน 450 ล้งส่งออกผลไม้ไปจีนเข้าระบบ ยันต้องได้มาตรฐาน GMP และซื้อสินค้าจากแปลงผลิตที่ได้รับรอง GAP เท่านั้นถึงมีสิทธิค้ากับจีน ฮึ่ม! ใครนอกลู่สวมสิทธิเกษตรกรโทษหนักถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ยอด 4 เดือนแรกไทยส่งออกไปจีนแล้ว 4.2 หมื่นล้าน โต 80%

จากที่กรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับสมัครขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ผลสืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชไทย-จีน (JTC-SPS) ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนธันวาคม 2561 กรุงปักกิ่ง ฝ่ายไทยได้นำส่งฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ที่มีพิธีสารทั้ง 5 ชนิด (ทุเรียน มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย) โดยฝ่ายจีนจะบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ผ่านมากว่า 1 เดือนมีความคืบหน้าตามลำดับ

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ในฐานะประธานคณะกรรมการรับรองการตรวจประเมินโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ภาคตะวันออก เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันมีล้งที่ขึ้นทะเบียนส่งออกไปจีน 405 โรง (กราฟิกประกอบ) จากทั้งหมดคาดจะมีประมาณ 450 โรง ล่าสุดผ่านการรับรองแล้ว 275 โรง ซึ่งจะทยอยรับรองไปเรื่อยๆ เมื่อรับรองแล้วใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี

ต้อน 450 ล้งเข้าระบบ   ป้องส่งออกผลไม้ไปจีน 8.5 หมื่นล้าน

 

สำหรับล้งผลไม้ภาคตะวันออก มีแหล่งใหญ่อยู่ในจังหวัดจันทบุรีจะส่งออกไปประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งทุกล้งไม่ว่าจะเป็นไทยหรือไทยร่วมทุนกับจีนจะต้องมาจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกกับกรมวิชาการเกษตร และจะต้องได้มาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) เช่น สถานที่ตั้งและอาคารผลิตต้องสะอาด ไม่มีนํ้าขังแฉะ ต้องมีความปลอดภัยต่อการบรรจุ ซึ่งเป็นมาตรฐานโรงทั่วไป

ต้อน 450 ล้งเข้าระบบ   ป้องส่งออกผลไม้ไปจีน 8.5 หมื่นล้าน

ในข้อกำหนดของโรงคัดบรรจุจะต้องบรรจุสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน ดังนั้นโรงคัดบรรจุจะต้องซื้อสินค้าจากแปลงเกษตรกรที่ได้มาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) เวลาไปตรวจล้ง จะถามว่ามีสมาชิกเกษตรกรที่ได้รับรอง GAP หรือไม่ ถ้าไม่มีทางกรมวิชาการเกษตรจะไปตรวจและออกใบรับรองสวนนั้นให้ โดยล้งจะต้องมีใบรับรองจากสมาชิกสวนที่ได้มาตรฐานอย่างน้อย 5 ใบ ทั้งหมดเป็นข้อบังคับของทางการจีน ที่ให้ขึ้นทะเบียนสวนผลไม้แล้วส่งชื่อไปให้ทางการจีนเพื่อขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ควบคู่ไปกับล้ง

นายชลธี กล่าวว่า คุณภาพมาตรฐานเป็นหัวใจสำคัญของการส่งออก ดังนั้นล้งจะต้องรับซื้อสินค้าจากแปลงผลิตของเกษตรกรที่ได้มาตรฐาน GAP เท่านั้น เป็นเหตุผลให้เกษตรกรต้องเข้าสู่ระบบ ปัจจุบันมีเกษตรกรมาลงทะเบียนแล้ว 1.5 หมื่นแปลงไม่ตํ่ากว่า 1 แสนไร่

 

อย่างไรก็ดี กรณีการสวมสิทธิแปลงเกษตรที่ดี (GAP) ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะไปควบคุม ดังนั้นชาวสวนจะต้องดูแลสิทธิของตัวเองไม่ให้ใครมาสวมสิทธิได้ กรมวิชาการเกษตรจะไปจัดการก็ยาก เพราะไม่ทราบว่าชาวสวนขายเมื่อไร ขายให้กับล้งปริมาณเท่าไร ขณะเดียวกันหากระบบดีล้งจะต้องซื้อจากสวนที่มี GAP เท่านั้น หากกระทำผิดล้งจะเข้าข่ายหลอกลวง จะมีโทษตั้งแต่สถานเบา คือแจ้งเตือน พักใบอนุญาต สถานหนักคือเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนฝ่ายชาวสวน กรณีไม่ยินยอมสามารถฟ้องล้งเป็นคดีอาญาได้

สำหรับจีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งอันดับ 1 ของไทยโดยปี 2561 ไทยส่งออก 85,181 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% ส่วนช่วง 4 เดือนแรกปี 2562 ส่งออก 42,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลไม้หลักที่ส่งออกได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด และกล้วย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,477 วันที่ 9-12 มิถุนายน 2562

ต้อน 450 ล้งเข้าระบบ   ป้องส่งออกผลไม้ไปจีน 8.5 หมื่นล้าน