ธุรกิจทีวีติดอาวุธนวัตกรรมเสริมแกร่งรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

20 พ.ค. 2562 | 09:00 น.

ชี้เทรนด์ตลาดจอภาพ LED Signage แรงทั่วโลก ภาคธุรกิจพลิกชูเทคโนโลยีเสริมภาพลักษณ์ ปลุกตลาดทีวีไทยส้มหล่นรับอานิสงส์คึก ส่งผลแบรนด์ดังแห่ชูนวัตกรรม ดีไซน์ พร้อมขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มผู้ประกอบการทั้งค้าปลีก โรงแรม โรงพยาบาล ปั๊มนํ้ามัน ฯลฯ

ข้อมูลจาก HS Markit ระบุว่าปี 2565 ตลาด LED Signage จะมีมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปสู่จอที่มีความละเอียดเพื่อการใช้งานภายในอาคารมากขึ้น และจะมีสัดส่วนสูงถึง 71% ของ LED Signage ขณะที่ตลาด Smart Signage ปี 2565 มีมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 แสนล้านบาท โดยหน้าจอขนาด 65 นิ้วขึ้นไปจะครองสัดส่วนมากถึง 60% ในขณะที่เป็นหน้าจอสัมผัสมากกว่าครึ่งของตลาด ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยภาพรวมตลาดมีมูลค่า 6,000 ล้านบาท มีการเติบโตสูงกว่าตลาดโลก โดยปัจจัยหลักผลักดันตลาดโตนั้นเป็นผลมาจาก ภาคธุรกิจถูกดิสรัปต์โดยเทคโนโลยี มีการปรับเปลี่ยนมาใช้จอภาพเพื่อการสื่อสารแบรนด์กับลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก ธนาคาร โรงแรม และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งจากอานิสงก์ ดังกล่าวรวมไปถึงเทคโนโลยีที่คมชัด บวกกับนวัตกรรมที่ลํ้าหน้า ก็ทำให้ภาพรวมตลาดทีวีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทของไทยเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว

ส่งผลให้ตลาดทีวีในเมืองไทยระอุขึ้นอีกครั้ง มีทั้งยักษ์ใหญ่หน้าเดิมและผู้เล่นรายใหม่ต่างตบเท้าเข้ามาชิงแชร์อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดกับแบรนด์ “SKYWORTH” แบรนด์ทีวีอันดับ 1ในจีนด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากกว่า 20% และแบรนด์ท็อป 5 ของโลก ก็ถือโอกาสนี้เปิดตัวแบรนด์ในเครือทั้ง “สกายเวิร์ท” (Skyworth), “คูคา” (CooCaa) และแบรนด์ทีวียอดนิยมคุ้นหูคนไทยอย่าง “โตชิบา” (ภายหลังได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายในไทยตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา) เข้ารุกตลาดอย่างเต็มตัว หลังซุ่มเงียบทำตลาดในไทยมาเป็นเวลา 8 ปี

นายหวัง จิง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายเวิร์ท (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในไทยนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอนวัตกรรม OLED TV พร้อมระบบ AI ที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงและควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมได้เข้ามารุกตลาดเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ได้เตรียมทีวีนวัตกรรมใหม่เข้ามาทำตลาดทั้งสิ้น 26 รุ่น จากปีที่ผ่านมาที่นำเข้าทั้งหมด 12 รุ่น ซึ่งทีวีรุ่นใหม่ทั้งหมดนี้จะเน้นการนำเสนอนวัตกรรม IOT หรือสมาร์ททีวีเข้ามารุกตลาด เพื่อรองรับความต้องการของคนไทยด้านเทคโนโลยีและสินค้าที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง

“เรายังคงโฟกัสตลาดทีวีซึ่งเป็นสินค้าไฮไลต์ของบริษัทเข้ามารุกตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมองว่าปัจจุบันภาพลักษณ์ของแบรนด์จีนในไทยเริ่มดีขึ้นคนไทยมีการเปิดรับอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากราว 50% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งยอดขายนี้จะมาจาก Android TV และ OLED AI TV กว่า 60% นั่นแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีและความคมชัด ฟังก์ชันคือสิ่งที่ลูกค้าชาวไทยต้องการ”

ธุรกิจทีวีติดอาวุธนวัตกรรมเสริมแกร่งรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

ทั้งนี้ได้เตรียมงบประมาณการทำตลาดไว้ที่ 50 ล้านบาท ในการปั้นแบรนด์ “สกายเวิร์ท” และ “โตชิบา” ชูโดยจุดขายด้านเทคโนโลยีลํ้า-ดีไซน์หรูในราคาจับต้องได้เจาะลูกค้า พร้อมชูฟังก์ชันแอนดรอยด์ทีวีพร้อมดีไซน์ไร้ขอบตั้งแต่ไซซ์ 32 นิ้ว ราคา 8.9 พันบาทขึ้นไป และ OLED TV พร้อมระบบ AI ที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงและควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมได้ เข้ามาทำตลาดในปีนี้ อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายยอดขายทีวีในไทยสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,500 ล้านบาท เติบโต 3 เท่าจากปีที่ผ่านมาที่มียอดขาย 500 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายที่มาจากแบรนด์สกายเวิร์ท 45% โตชิบา 50% และคูคา 5% ก่อนจะวางเป้าหมายระยะยาวด้วยการขึ้นเป็นผู้เล่นท็อป 3 ในตลาดทีวีภายในปี 2567 ก่อนจะเป็นเบอร์ 1 ใน ปี 2572

ด้านนายเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ รองประธาน ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ซัมซุง กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจจอภาพดิจิทัลในไทยถือว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งป้ายประชาสัมพันธ์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ (จอภาพอัจฉริยะ) เป็นตลาดสำคัญที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยผลิตภัณฑ์หน้าจอสัมผัสและวิดีโอวอลล์ (Video Wall) คือกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุด ขณะที่หลายกลุ่มธุรกิจก็เริ่มใช้เทคโนโลยีจอภาพเข้ามาใช้ในการสื่อสารแบรนด์ โดยกลยุทธ์ของบริษัทในกลุ่มจอภาพนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการส่ง 4 กลุ่มธุรกิจจอภาพเจาะลูกค้าแต่ละเซ็กเมนต์ ได้แก่ 1.กลุ่มแอลอีดีไซเนจ ส่ง “เดอะวอลล์” เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร และลูกค้าระดับลักชัวรี 2.กลุ่มสมาร์ทแอลอีดี เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร ค้าปลีก ปั๊มนํ้ามัน 3.กลุ่มฮอสพิทอลลิตี้ ทีวี เจาะกลุ่มลูกค้าโรงแรม โรงพยาบาล และ 4.กลุ่มมอนิเตอร์ เจาะลูกค้ากลุ่มเกมมิ่ง ดีไซเนอร์

ทั้งนี้โดยเฉพาะในกลุ่มจอดิจิทัลของบริษัทที่แม้จะเน้นการทำตลาดในช่องทาง B2B เป็นหลักแต่ทว่าแนวโน้มในตลาดลูกค้าทั่วไปโดยเฉพาะในตลาดระดับบนอย่างมหาเศรษฐีก็มีความสนใจจอภาพความคมชัดสูง โดยล่าสุดได้เปิดตัว The Wall ขนาด 73-292 นิ้ว ความคมชัดสูงระดับ 2K-8K มาเจาะตลาดองค์กรและกลุ่มเศรษฐี ซึ่งมีตั้งแต่ขนาด 98 นิ้ว ราคา 3 ล้านบาท ไปจนถึงขนาด 146 นิ้ว ราคา 12 ล้านบาท เพื่อรองรับตลาด “ลักชัวรี พรีเมียม” หรือลูกค้ากลุ่ม VVIP ในการใช้เพื่อการตกแต่งห้องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ซึ่งตลาดกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มจอดิจิทัลของซัมซุงเป็นผู้นำตลาดในไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% โดยบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ไว้ไม่ตํ่ากว่า 15%

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมายังได้เปิดตัวทีวีรุ่นใหม่เพื่อรุกตลาดทีวีพรีเมียม ที่มีความละเอียดสูงกับซัมซุง คิว แอลอีดี 8K (Q900) ในขนาดหน้าจอ 65 นิ้ว 75 นิ้ว 82 นิ้ว และ 98 นิ้ว ในราคาเริ่มต้นที่ 199,990-2,999,990 บาท และ คิว แอลอีดี ความละเอียด 4K ทั้งสิ้น 4 รุ่น ได้แก่ Q90 ,Q80, Q75 และ Q60 ราคาเริ่มต้นที่ 39,990 -179,990 บาท โดยมั่นใจว่าช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมทีวีและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับซัมซุงในฐานะผู้นำตลาดและผู้นำนวัตกรรมระดับโลกต่อไป 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3471 ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2562

ธุรกิจทีวีติดอาวุธนวัตกรรมเสริมแกร่งรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม