พาณิชย์ฉลองความสำเร็จหลังปั้นGI ทะลุ 100 รายการ พร้อมตั้งเป้าตั้งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าGI 10 เท่า

04 เม.ย. 2562 | 10:14 น.

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตามลำดับ โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้าน GI เร่งผลักดันให้ชุมชนนำสินค้าในท้องถิ่นของตนเองที่มีคุณสมบัติเฉพาะผูกติดกับชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตมาขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI จากทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่งผลให้ปัจจุบัน  สินค้า GI ไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนครบ 100 สินค้า ซึ่งสินค้ารายการที่ 100 ที่ได้รับการจดทะเบียนในปีงบประมาณ 2562 คือ ทุเรียนสาลิกาพังงา ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องการพัฒนาระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันเฟ้นหาสินค้า GI ที่มีเอกลักษณ์ผูกติดกับแหล่งผลิตจริงๆ นำมาพัฒนาจัดให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้มีโอกาสนำสินค้าออกสู่สายตาผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น

 โดยงาน ร้อยเรื่องราว ผ่านร้อย GI ไทย จัดขึ้นเพื่อฉลองความสำเร็จในการผลักดันให้จังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยนำสินค้า GI ของตนมาขึ้นทะเบียน ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าไทยได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้วรวม 103 รายการ จาก 67 จังหวัด อันเป็นการเผยแพร่ให้เห็นถึงความมุ่งมั่น จริงจัง และความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาด้านต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่การส่งเสริมการขึ้นทะเบียน การควบคุมคุณภาพและการตลาดจนมีผู้ประกอบการที่ขอใช้ตรา GI ไทยแล้วกว่า 2,500 ราย มีมูลค่าการตลาดสูงกว่า 4,000 ล้านบาท ส่งผลให้กับชุมชนท้องถิ่นสามารถมีรายได้

นอกจากนี้  ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราววิวัฒนาการของ GI ตั้งแต่เริ่มจนเป็น 100 สินค้า การลงพื้นที่เพื่อส่งเสริม GI และการขยายช่องทางการตลาดและนำสินค้า GI ไทยสู่สากล อีกทั้งยังได้มอบโล่รางวัล ที่สุดของ GI  3 รางวัล ได้แก่ People Award, Product Award และ Rising Star Award สำหรับแผนงานในอนาคตยังคงเดินหน้าให้เกิดการขึ้นทะเบียน ควบคุมคุณภาพ เพิ่มมูลค่า ขยายช่องทางการตลาด และพัฒนาแหล่งผลิตสินค้า GI ไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต โดยตั้งเป้าให้เพิ่มมูลค่าการตลาดสินค้า GI อีก 10 เท่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับสินค้า GI และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคงและยั่งยืน