ควัก 1.6 หมื่นล้าน! ปฏิรูป "เส้นทางรถเมล์" ไฟเขียวเอกชนควบรวมกิจการรถโดยสาร

03 ม.ค. 2562 | 09:06 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนจ่อควัก 1.6 หมื่นล้านบาท รับปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ 4,000 คัน ด้าน กรมการขนส่งทางบกไฟเขียว! เอกชนควบรวมกิจการรถโดยสาร ในนาม "บริษัท อมรรัตนโกสินทร์ จำกัด" โดยกลุ่ม บมจ.ช ทวี เป็นแกนนำ

 

[caption id="attachment_369229" align="aligncenter" width="335"] นายกมล บูรณพงศ์ นายกมล บูรณพงศ์[/caption]

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า มีความคืบหน้าการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ 269 เส้นทางนั้น ขณะนี้สรุปยอดตัวเลขเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนราว 25 เส้นทาง ส่วนเส้นทางเดินรถเดิมจะปรับให้มีระยะทางสั้นลง เพื่อลดการทับซ้อนเส้นทางเดินรถ เช่น เส้นทางเดิมแทบทุกสายจะวิ่งเข้าหาใจกลางเมือง อย่าง 'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ' ทว่าในอนาคตจะปรับให้เส้นทางวิ่งไปยังจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง อย่าง สถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ท่าเรือสำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา สถานีขนส่ง และสนามบิน ตามนโยบายการขนส่งไร้รอยต่อ

ดังนั้น รถเมล์จึงเป็นเพียงฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารเข้าระบบขนส่งหลักอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นไปได้ยากที่จะผลักดันให้การปฏิรูปเสร็จในปี 2562 ตามแผนที่ได้ตั้งไว้ เนื่องจากต้องมีขั้นตอนจัดสรรเส้นทางให้เอกชนรายเดิมและรายใหม่ ส่วนด้านผู้ประกอบการก็ต้องลงทุนเม็ดเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถใหม่ 4,000 คัน หรือเฉลี่ย 4 ล้านบาท/คัน เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ทั้งการรอแหล่งเงินทุนและขั้นการตอนส่งมอบรถ ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

"สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้งบริษัทเอกชนเพื่อควบรวมกิจการรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ (รถร่วมฯ) ตามหลักแล้วสามารถทำได้ ไม่ผิดกติกา แต่ทั้งนี้ต้องรอดูว่าจะเจรจาไปได้ถึงไหนและมีรูปแบบการบริหารรถร่วมฯ ทั้งหมดได้อย่างไร ตอนนี้ยังไม่มีข้อห้าม แต่จะพิจารณาเรื่องการผูกขาดกิจการ เพราะต้องไม่ลืมว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังอยู่ในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องจัดเส้นทางเดินรถให้ด้วย"

ด้าน นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO กล่าวว่า สำหรับแผนงานของ บริษัท อมรรัตนโกสินทร์ จำกัด มีแผนที่จะควบรวมกลุ่มผู้ประกอบการให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยการเจรจากับผู้ประกอบการเดิมเพื่อขอจ้างเหมาวิ่งรถในแต่ละวัน รวมถึงการเจรจาข้อเสนออื่น ๆ ด้วย

"อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 จะเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญการยกระดับระบบขนส่งสาธารณะควบคู่กับการเดินหน้าเข้าหาผู้ประกอบการ ก่อนวางแผนลงทุนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ พร้อมติดตั้งระบบเครื่องอ่านบัตรโดยสารอัตโนมัติ (E-Ticket) รองรับตั๋วร่วมและบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเพิ่มช่องทางการชำระเงินแบบดิจิทัลอีกด้วย"

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก