ม.หอการค้าไทย เผยผลวิจัยทางรอดยางพารา ต้องใช้ในประเทศมากขึ้น ลดพื้นที่ปลูกลง 30 %

30 ต.ค. 2561 | 08:01 น.
ม.หอการค้าไทย เผยผลวิจัยทางรอดยางพาราไทย ต้องใช้ในประเทศมากขึ้นและลดพื้นที่ปลูกลง 30% หลังส่งออกมากถึง 86% ทำให้ตลาดมีอำนาจกำหนดราคา

นายอัทธ์ พิศาลวนิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิจัยในหัวข้อ "วาระแห่งชาติ ยางพาราไทย : อุปสรรคและทางรอด" โดยระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพห่วงโซ่การผลิตยางพาราไทยกับมาเลเซีย พบว่า ไทยขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่มาเลเซียลดพื้นที่เพาะปลูกลง ในขณะที่ การพัฒนาพันธุ์ยางพาราไทยตามหลังมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ผลผลิตต่อไรไทยใกล้เคียงกับมาเลเซีย แต่ไทยมีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 14.2% หรือประมาณ 6 แสนตันเท่านั้น จากกำลังการผลิต 4.5 ล้านตัน ซึ่งการที่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกนำไปส่งออกมากถึง 86% ทำให้ตลาดมีอำนาจเป็นผู้กำหนดราคา ส่วนมาเลเซียใช้ยางพาราในประเทศ 35% และส่งออก 65% ทำให้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่รุนแรงเท่ากับไทย โดยราคายางตอนนี้กิโลกรัมละ 46 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 63 บาท ทำให้ขาดทุน 26 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งธนาคารโลกเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ราคายางพาราจะไม่เกิน 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 66 บาท

"คำถาม คือ ยางพารายังเป็นพืชที่มีอนาคตอยู่อีกหรือไม่ ปัจจุบัน ราคายางลดลงถึง 72% จากปี 2554 อีกทั้งขณะนี้สงครามการค้ามีผลกระทบโดยตรงต่อราคายาง เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามาก ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดี กำลังซื้อรถยนต์ลดลงชัดเจน ทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดลดลงมาก"


ม.หอการค้า1

ทั้งนี้ ในงานวิจัยได้นำเสนอทางรอดของยางพาราไทยไว้ 14 ข้อ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ จะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น และลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงอย่างน้อย 30% ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสมดุลกับการผลิตมากขึ้น ช่วยดึงราคาขึ้นได้ แต่เมื่อลดพื้นที่ปลูกแล้ว ก็ต้องสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหน่วยงานยางพาราของประเทศให้ทำงานเป็นเอกภาพ และเกษตรกรก็ต้องรวมตัวกันเป็นเอกภาพด้วย นอกจากนี้ ยังควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง เพื่อดูแล Big Data ยางพารา รวมทั้งส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยต่าง ๆ ไปใช้ในเชิงพาณิชย์


e-book-1-503x62-7