ปั้น‘ไก่เบตง’สร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้

26 มิ.ย. 2561 | 03:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ไก่เบตง เป็นไก่อีกสายพันธุ์หนึ่งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่อย่างล้นหลาม ถึงรสชาติและความอร่อยแบบลงตัว ด้วยคุณลักษณะของเนื้อที่นุ่มลิ้น หนังกรุบกรอบสีเหลืองทอง รสของเนื้อที่หอมหวานทานอร่อยและที่สำคัญ คือ ไขมันตํ่าแต่ก็ต้องแลกกับระยะเวลาการเลี้ยงที่มาก กว่าไก่ทั่วไปในท้องตลาดกว่า 4 เท่า (5-6 เดือนต่อหนึ่งรอบการเลี้ยง) ประกอบกับสภาพดินฟ้าอากาศของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่เรียก “ฝน 8 แดด 4” ทั้งหมดเป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่ทำให้ไก่เบตงเป็นไก่ที่มีอนาคตทางเศรษฐกิจที่ดี

lo03

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผ่านมา เนื่องจากไก่เบตงเป็นไก่ที่เลี้ยงยาก อีกทั้งการผสมพันธุ์ไก่ตามธรรมชาติทำได้ยาก การเพาะเลี้ยงที่มีขั้นตอนยุ่งยากและยาวนานกว่าไก่ทั่วไป การแปรรูปที่ยังไม่พบเมนูที่หลากหลายมากนัก นอกจากเมนูไก่ต้ม ข้าวมันไก่ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทำให้ผู้สนใจการเพาะเลี้ยงไก่เบตงหลายปีที่ผ่านมา ลดจำนวนไปเป็นอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่ามีการผลิตไก่เบตงเข้าสู่ตลาดในประเทศที่ผ่านมาในแต่ละปีประมาณ 10,000 ตัวเท่านั้น และก็นิยมหารับประทานกันเฉพาะในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาเท่านั้น

ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า รัฐบาลโดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เล็งเห็นถึงคุณค่าจากการสร้างสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน จึงได้มอบหมายให้ศอ.บต.ร่วมกับกรมปศุสัตว์ เครือข่ายภาคประชาชนและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมพัฒนาโครงการ “ไก่เบตงประชารัฐ” ตามแนวทางโครงการปั้นดาวชายแดนใต้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“มีเป้าหมายการเพิ่มจำนวนการผลิตให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ตัวต่อปีตามความต้องการของตลาด พร้อมกับการจดทะเบียน GI โดยกระทรวงพาณิชย์ และการขยายตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกเครือข่ายและการบริหารจัดการกลุ่มประชาชนในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “สหกรณ์ประชารัฐผู้เลี้ยงไก่เบตง” ที่จะเป็นกลยุทธ์การทำงานที่นำไปสู่การสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง รวมทั้งการจัดหาตลาดระดับบนโดยประสานความร่วมมือกับบริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่มีร้านค้า/ห้างสรรพสินค้าเพื่อจำหน่ายไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ในส่วนหลังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคุณวนัสนันท์ กนกพัฒนางกูร เชฟอาหารไทย 1 ใน 4 ที่เป็นที่รู้จักของประเทศจีน และ ผศ.ดร.ศันสนีย์ จะสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหารจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่จะพัฒนาสูตรอาหารเพื่อแปรรูปไก่เบตงให้เป็นเมนูประเภทต่างๆ ที่มีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เมนูไก่เบตงสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมรับประทานในรูปแบบและรสชาติต่างๆ ไก่เบตงย่างรสเลิศ ไก่เบตงรมควัน ไก่เบตงสะเต๊ะ เป็นต้น”

lo08

ความร่วมมือจากการพัฒนาดังกล่าว ผลสำเร็จที่ได้ไม่เพียงขยับฐานการผลิตไก่เบตงในพื้นที่เป็น 50,000 ตัวในระยะที่ 1 และ 100,000 ตัว ในระยะที่ 2 และจะมากกว่านั้น จากการทำตลาดภายใต้แนวทางตลาดนำการผลิต ยังส่งผลให้เกษตรกรและประชาชนที่เกี่ยวเนื่องมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,376 วันที่ 21-23 มิถุนายน 2561 e-book-1-503x62