ใช้ ม. 44 อุ้มสองยักษ์มือถือหรือคอร์รัปชันจะย้อนรอยเดิม

22 มี.ค. 2561 | 04:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ใช้ ม. 44 อุ้มสองยักษ์มือถือหรือคอร์รัปชันจะย้อนรอยเดิม

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ โพสต์เฟซบุ๊กระบุหัวเรื่องว่า"ใช้ ม. 44 อุ้มสองยักษ์มือถือหรือคอร์รัปชันจะย้อนรอยเดิม"  รายละเอียดคือ

รัฐบาลและคสช. กำลังจะใช้ ม.44 เปิดทางให้บริษัท ทรู และ เอไอเอส ยืดเวลาชำระเงินค่าสัมปทานคลื่นโทรศัพท์ 4 จี ที่ต้องจ่ายให้รัฐ มูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท ไปเป็นการผ่อนส่งนาน 5 ปี แต่จากศึกษาติดตามดูผมยังเห็นว่า ไม่มีเหตุจำเป็นใดเลยที่รัฐต้องยอมเอาประโยชน์ของคนไทยไปช่วยเหลือบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสอง มีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเสียอีก ด้วยเหตุผลสำคัญนี้

mana4

1. ชัดเจนว่า บริษัทมือถือทั้งสองรายมีกำไรมาตลอด (ดูภาพประกอบ) และไม่มีอะไรที่ส่อว่าธุรกิจนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ

2. เอกชนรายใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่เด็กอมมือที่จะซี๊ซั๊วเข้าประมูลคลื่น 4 จี ทุกรายต่างสมัครใจและต้องเตรียมการศึกษาวางแผนเป็นอย่างดีถึงผลดีผลเสียและโอกาสทางธุรกิจที่ตนจะได้รับ การระดมทุน ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี่และพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้นการหาเหตุอ้างในภายหลังเพื่อขอลดค่าใช้จ่ายลดต้นทุน เพิ่มกำไรให้ตนเอง จึงเป็นเรื่องรับฟังไม่ขึ้น

mana3

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

3. การที่เอกชนสองรายได้เงื่อนไขพิเศษ จะทำให้พวกเขามีความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าหรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับลดโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการอื่นอย่าง ดีแทค หรือรายอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาให้บริการประชาชนในอนาคต จนเกิดการผูกขาดขึ้นได้

4. แม้มีการคิดดอกเบี้ยผ่อนชำระค่าสัมปทาน แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดก็ต่ำเกินไป จนอาจทำให้รัฐต้องเสียรายได้ไปมากถึง 3 หมื่นล้านบาท (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์,19/3/61)

mana2

5. การยอมให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัมปทานในลักษณะการให้โอกาสพิเศษแก่เอกชนบางราย ที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ (Rule of Laws) จะทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว

6. การที่ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) กิจการโทรคมนาคม เป็นผู้เดินเรื่องจนทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันโดยตรง จะนำไปสู่การฟ้องร้องของผู้เกี่ยวข้องทำให้รัฐต้องชดใช้ได้

mana1

ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การที่บริษัททรู มีกำไรด้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจสื่อสารรายอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมาธุรกิจบริการ “โทรศัพท์บ้าน” ที่ตนได้สัมปทานมาให้ผลตอบแทนไม่ดี และในการประมูลคลื่น 4 จี เขาเป็นรายเดียวที่ชนะการประมูลไปสองคลื่นความถี่เพื่อความได้เปรียบทางการค้า แต่ก็ทำให้มีต้นทุนสูงกว่าคนอื่นเช่นกัน

ถึงตรงนี้ยังนึกไม่ออกว่า กรณีนี้จะต่างอะไรกับการที่รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ถูกชี้หน้าว่าคอร์รัปชัน เพราะใช้อำนาจทางการเมืองไปเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง พวกพ้องและพ่อค้าต่างชาติ จากการแก้กฎหมายเพื่อแปลงสัมปทานโทรศัพท์มือถือในยุคนั้นเป็นภาษีสรรพสามิต และการแก้ภาษีเหล้าให้บริษัทเหล้าชื่อดังข้ามโลกที่ยอมรับว่ามีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทย จนทำให้รายได้รัฐต้องสูญเสียรายได้ไปมหาศาล

mana

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว