แรงงานย้ำนายจ้างทำข้อบังคับฯขัดกับกฎหมายใช้บังคับไม่ได้ฝ่าฝืนมีโทษอาญา

07 เม.ย. 2560 | 10:04 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงแรงงาน แจงแก้กฎหมายแรงงานเพื่อประโยชน์นายจ้าง ลูกจ้าง สร้างความคล่องตัวในการประกอบการ พร้อมเพิ่มโอกาสในการทำงาน ย้ำนายจ้างจัดทำข้อบังคับต้องไม่ขัดกับกฎหมาย หากฝ่าฝืนใช้บังคับกับลูกจ้างไม่ได้ และมีความผิดตามกฎหมายด้วย

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการแก้ไข ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับสภาพการณ์ด้านแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้มีมติรับหลักการในร่างกฎหมายแล้ว สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการปรับปรุงแก้ไขในร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น กำหนดค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ 2. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ และ 3.ปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับฯให้กับเจ้าหน้าที่  ทั้งนี้การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงานจะเป็นประโยชน์แก่นายจ้างและลูกจ้าง ทั้งในเรื่องของความคล่องตัวในการประกอบการลดระยะเวลาในกระบวนการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว เป็นกลไกดึงดูดนักลงทุน เพิ่มโอกาสในการมีงานทำ และก่อให้เกิดการจ้างงานแก่แรงงานเฉพาะกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิด ความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายและสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุ

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อห่วงใยกรณีที่นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ จะทำให้นายจ้างจัดทำข้อบังคับฯโดยมีการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง นั้น นายจ้างไม่สามารถทำได้เพราะข้อบังคับฯที่ขัดกับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่สามารถใช้บังคับได้ ขณะเดียวกันการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างก็เป็นความผิดทางอาญาโดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546