ชี้ในปี 63 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิกมีมากกว่าร้อยละ 53 ของทั่วโลก

16 พ.ย. 2559 | 11:46 น.
อินเทอร์เน็ต โซไซตี้  ชี้อินเทอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พบมีความท้าทายด้านความปลอดภัยบนโลกออนไลน์

วันนี้(16 พ.ย.2559)อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ เผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตของอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และปัจจุบันเอเชียแปซิฟิกคือภูมิภาคที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดของโลก แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ได้นำมาซึ่งความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของอินเทอร์เน็ต

ภายในปี พ.ศ. 2563 ภูมิภาคเอชียแปซิฟิกจะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่าร้อยละ 53 ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 พันล้านคนในอีก 4 ปีข้างหน้า

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่โทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้ใช้สูง จากอัตราการใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์แท็บเล็ตในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลาง และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอินเทอร์เน็ต โซไซตี้ คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2562 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิกจะเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากที่สุดในโลก

รายงานของอินเทอร์เน็ต โซไซตี้ ในหัวข้อ “ปลดปล่อยศักยภาพของอินเทอร์เน็ตเพื่อเศรษฐกิจอาเซียน” เผยการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตและการทำงานร่วมกันของระบบและแพลตฟอร์มทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศนั้นคือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนระบบข้อมูลสารสนเทศเสรี รวมถึงการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการลงทุนอย่างเสรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเติบโตของอัตราการเปิดรับอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าความปลอดภัยและภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ควรได้รับความใส่ใจ จากผลการสำรวจของ อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้ พบว่าร้อยละ 58 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์คือปัญหาหลักที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 59 เห็นตรงกันว่าข้อมูลส่วนตัวของตนไม่ได้รับการปกป้องบนโลกออนไลน์

การละเมิดข้อมูลขนาดใหญ่ การขาดความเชื่อมั่นว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อาชกรรมทางไซเบอร์ การดักจับข้อมูล และการคุกคามบนโลกออนไลน์อื่นๆ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากภัยคุกคามต่างๆ ข้างต้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สะดวกสบายขึ้น ประกอบกับเนื้อหาที่ใกล้ตัวกับผู้ใช้ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอินเทอร์เน็ต อีกทั้งความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้คนอีกกว่าพันล้านคนเปิดรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต

นางสาวแคทเธอรีน บราวน์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ อธิบายว่า “ความเชื่อมั่นคือปัจจัยหลักที่ทำให้อินเทอร์เน็ตประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระดับความเชื่อมั่นเหล่านั้นได้ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออนาคตของอินเทอร์เน็ต” “Collaborative Security framework ของอินเทอร์เน็ต โซไซตี้ คือ แหล่งข้อมูลอ้างอิงที่มีประโยชน์ในการจัดการปัญหาเหล่านี้ อินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้คือกุญแจสำคัญสำหรับเศรษฐกิจระดับโลก และทุกภาคส่วนควรทำงานร่วมกันในการรักษาซึ่งความน่าเชื่อถือบนอินเทอร์เน็ตและโอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น” นางสาวบราวน์ เสริม