ลูกหลานเกษตรกรเมียนมา

22 ม.ค. 2566 | 21:15 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับข้อความจากแฟนคลับท่านหนึ่ง ได้ระบายความอึดอัดใจของท่านว่า ท่านได้พบเห็นเด็กๆ รุ่นใหม่ของบ้านเรา โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดที่มีพื้นฐานครอบครัวมาจากท้องทุ่งท้องนา ก็คือลูกหลานเกษตรกรไทย เมื่อเข้าเมืองมาเล่าเรียนหนังสือ พอเรียนจบปริญญาออกมา ทุกคนต่างหันหน้าเข้าสู่สังคมเมือง การประกอบอาชีพหลักๆ ของเด็กๆ เหล่านั้น ก็คือลูกจ้างแรงงาน หรือพนักงานบริษัท คนรุ่นใหม่ทุกคนไม่อยากที่จะกลับไปอยู่บ้านนาถิ่นเกิด

ท่านตั้งข้อสังเกตุว่า น่าจะมาจากเรื่องของกฎหมายการใช้พื้นที่ดินเกษตรกรรม ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมได้ง่ายๆ ดังนั้นพอจะปรับเปลี่ยนท้องทุ่งท้องนา มาทำอุตสาหกรรมจึงยากลำบาก เพราะต้องใช้เงินใช้ทอง ในการดำเนินการตามกฎหมายมากมาย ดังนั้นพอกลับไปอยู่บ้าน ก็ไม่รู้จะทำมาหากินอะไรดี ส่วนงานดั้งเดิมของพ่อ-แม่ ก็ทำไร่ทำนากัน เด็กๆ เหล่านี้ก็ไม่ทนพอที่จะลำบากเหมือนพ่อ-แม่อีกแล้ว 
 


อีกประการหนึ่งที่ท่านเห็น คือการทำไร่ทำนา ผลผลิตที่ได้มา ก็ต้องถูกพวกพ่อค้าคนกลางเขากดขี่เอา ดังนั้นจึงทำให้เด็กๆ ที่เป็นอนาคตรุ่นใหม่ๆ ของชาติ ต้องเข้าเมืองไปทำงานเป็นลูกจ้างหรือแรงงานไป

ผมก็ได้แต่บอกว่า นี่คือสัจธรรมของสังคมมนุษย์ครับ เพราะคนเราทุกคนย่อมมีความต้องการที่จะอยู่ดีกินดีกันทุกคน แต่โอกาสของแต่ละคนไม่ได้เท่าเทียมกันเสมอไปครับ แต่เด็กลูกหลานเกษตรกรไทยเรา ยังมีโอกาสที่ดีกว่าเด็กลูกหลานเกษตรกรเมียนมาเยอะครับ การพัฒนาเศรษฐกิจของเรา แม้จะได้ก้าวข้ามขั้นต้นของการพัฒนาการเกษตรพื้นฐานไปมากแล้ว แต่ผลผลิตของเกษตรพื้นฐาน ก็ยังคงเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปของการเกษตรอุตสาหกรรมอยู่ดีครับ
 

 

อันนี้คงไม่มีใครปฎิเสธได้แน่นอน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปกังวลใจสำหรับการเกษตรว่าจะไม่มีคนทำเลยครับ ในอนาคตการเกษตรก็จะต้องพัฒนาต่อไป ด้วยการใช้เครื่องมือจักรกลเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์อยู่ดีครับ 

หากเรานำเอาการพัฒนาการเกษตรของทุกๆ ประเทศมาเป็นกรณีศึกษา เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือการก้าวย่างสู่การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนา ที่ทุกๆ ประเทศมีรูปแบบคล้ายๆกันหมด หรือเราอาจจะมองกลับไปข้างหลัง เมื่อครั้งเรายังเป็นเด็กบ้านนอกคอกนา ปัจจุบันนี้กับอดีต ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วเช่นกัน

ในอดีตการทำนาของชาวนา ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินกันทุกคน เพราะจะต้องเริ่มตั้งแต่ ไถนา คาดนา ปลูกกล้าข้าวแล้วถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว ตากข้าวเปลือก ถึงจะมีข้าวเปลือกออกมาขายให้โรงสีกัน แต่ปัจจุบันนี้หลายขั้นตอนของการทำนา ก็ได้ยกเว้นไม่มีใครทำกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ควายไถนา ตามบ้านนอกก็หาดูยากแล้วครับ
 


ชาวนาใช้ควายเหล็กไถนากันหมดแล้ว หรือการลงแขกดำนา เขาก็ปรับเปลี่ยนมาใช้รถดำนากันแล้ว เกี่ยวข้าวก็ไม่ต้องลงแขกเกี่ยวข้าว ชาวนาใช้รถเกี่ยวข้าวกัน หรือแม้แต่นวดข้าว ตากข้าว เราก็ไม่ได้เห็นแล้ว เขาใช้รถเกี่ยวข้าวเสร็จก็นวดข้าวไปในตัว จนกระทั่งใส่ถุงกระสอบเสร็จเรียบร้อย ข้าวเปลือกสดๆ ก็ส่งเข้าโรงสีเพื่อใช้เครื่องจักรอบข้าว จะเอาความชื้นมากน้อยแค่ไหนก็ทำได้ ชาวนาไม่ต้องรอให้ฟ้าเปิดเพื่อมีแดดแล้วครับ

ถ้าไม่มีรถเกี่ยวข้าวเป็นของตัวเอง ก็สามารถว่าจ้างหรือเรียกรถมาช่วยเกี่ยวข้าวให้ก็เสร็จแล้วครับ สะดวกสบายกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เยอะเลยครับ นั่นคือตัวอย่างของการพัฒนาด้านการเกษตรของเรา ในอนาคตชาวนาไทยคงจะร้องเพลง “เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว” กันไม่เป็นแล้วละครับ 

 

ส่วนที่ประเทศเมียนมา ลูกหลานเกษตรกรของเขา ยังคงใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาด้านการเกษตร ยังไปไม่ถึงไหน แม้จะมีการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปขายกันบ้างแล้ว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ กันอยู่

เหตุผลหลักที่ผมเห็น ก็เพราะว่าแม้จะมีการนำเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้าไปบ้างแล้ว แต่ค่าน้ำมันยังแพงมาก การซื้อหาน้ำมันก็ใช่ว่าจะหาซื้อกันได้ง่ายๆ หรือราคาพืชผลทางการเกษตรก็ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ เพราะราคาต้นทุนการผลิตในท้องถิ่นที่ทำการเพาะปลูก แม้จะถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ค่าขนส่งจากถิ่นที่เพาะปลูกมาสู่ตลาด ก็ยังคงแพงมากๆ
 


เหตุที่ค่าขนส่งแพง เพราะเหตุผลมาจากค่าน้ำมัน ถนนหนทางไม่ค่อยดี ระยะทางที่ไกลจากความเจริญ ดังนั้นค่าขนส่งจึงแพงหูฉี่ พอเข้ามาเจอพ่อค้าคนกลางกดราคา โรงสีในอดีตเป็นของรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ การผลิตของโรงสีจึงไม่ได้พัฒนามากนัก ประกอบกับพนักงานรัฐวิสาหกิจในประเทศที่ยังไม่เจริญ ทุกๆ แห่งก็เหมือนๆ กันหมด คือเช้าชามเย็นชามครับ จึงทำให้ผลผลิตที่ออกมาจากโรงสี ค่อนข้างจะไม่พัฒนาตามกระแสของตลาด 

ปัจจุบันนี้ โรงสีเหล่านั้นได้แปรรูปมาให้เอกชนเป็นผู้รับช่วงไปเกือบหมดแล้ว แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็ยังคงทำให้พัฒนายากมาก ในขณะที่ผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาด ไม่ได้ส่งต่อไปแปรรูปเป็นการเกษตรอุตสาหกรรม ดังนั้นการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ มักจะได้ราคาที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเสมอครับ

ตลาดที่ผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมา ที่ส่งไปขายก็จะมีไปขายที่ประเทศไทย จีน บังคลาเทศ อินเดีย เป็นหลัก สินค้าการเกษตรพื้นฐานของเขาก็จะมี ข้าว ถั่วทุกชนิด งา พริก ข้าวโพด ผักบางชนิด และผลไม้บางชนิดเท่านั้น ที่ยังพอขายได้เพราะราคาของเขาจะถูกกว่าตลาดโลกมากครับ เช่นข้าวสาร ก็จะถูกกว่าราคาตลาดโลกประมาณตันละร้อยเหรียญสหรัฐ ซึ่งนี่เป็นอุปสรรคสำคัญของเขาครับ

เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นลูกหลานเกษตรกรเมียนมาที่เป็นแรงงาน เขาจึงต้องดิ้นรนออกไปหางานทำที่ต่างประเทศกัน เพราะอุตสาหกรรมของที่นั่น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของแรงงาน อีกทั้งงานด้านการเกษตรพื้นฐาน ราคาก็ไม่ค่อยรอด การออกมาทำงานต่างประเทศ จึงเป็นทางเลือกของแรงงานด้านการเกษตร เพราะถึงอย่างไรค่าแรงที่ได้รับ ก็ยังดีกว่ารายรับที่ได้จากการเกษตรพื้นฐานเยอะครับ ลูกหลานเกษตรกรไทย จึงมีโอกาสดีกว่าลูกหลานเกษตรกรเมียนมาอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นไงละครับ