ชาวไตในดินแดนภาคเหนือของไทยเรา

20 พ.ย. 2565 | 20:25 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันที่ 15-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปมอบฌาปนสถานที่บ้านห้วยผึ้ง ตำบลแม่สะลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งผมได้เป็นสะพานบุญให้กับทุกท่าน ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์จากแรงศรัทธาของญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ สมาชิกรวมทั้งแฟนคลับ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันส่งเงินสมทบทำบุญมา เป็นเงินทั้งสิ้นเกือบล้านห้าแสนบาท
 

โดยผมได้นำคณะเพื่อนๆ ชาวโรตารี่ลุมพินี และผู้ที่มีจิตศรัทธาเดินทางร่วมกัน ไปทำพิธีสงฆ์และส่งมอบให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น ซึ่งยังมีเงินส่วนที่เหลือจากการก่อสร้างเมรุนี้ ผมได้มอบให้กำนันเมืองแห่งบ้านเทอดไทย ช่วงก่อสร้างที่ผ่านมา ท่านช่วยเป็นผู้ดูแลงานก่อสร้างนี้ อีกทั้งท่านยังเป็นผู้รับช่วงดูแลงานก่อสร้างศาลาพักสังขารต่อไปอีกหนึ่งหลังให้ด้วย ต้องกราบขอบพระคุณกำนันเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
 

ในช่วงที่ทำพิธีสงฆ์เพื่อส่งมอบนั้น พระสงฆ์ได้สวดมนต์เพื่อทำพิธีถอนและซื้อที่จากสิ่งลี้ลับต่างๆ ด้วยภาษาที่สวดเป็นภาษาไตหรือภาษาไทยใหญ่เกือบทั้งสิ้น ผมเองแม้จะคุ้นเคยกับพี่น้องชาวไตมาก แต่ต้องยอมรับว่าแทบจะฟังไม่รู้เรื่องเลยครับ เพราะคาถาต่างๆ นั้นฟังยากจริงๆ แรกๆ เลยก็คิดว่าเป็นภาษาบาลี แต่ฟังๆ ไป เอ๊ะ...ทำมั้ยมีภาษาไทยใหญ่หรือคำไตผสมอยู่ในนั้นเยอะมาก เลยกระซิบถามผู้รู้ที่เป็นชาวบ้านที่นั่น จึงทราบว่าเป็นบทสวดหรือถ้าจะเรียกแบบภาษาบ้านๆ ก็คือคาถาของชาวไตนั่นเองครับ
 

เมื่อได้สนทนาสอบถามที่มาที่ไปของชุมชนที่นั่น เพราะแรกเลยตามความเข้าใจของผม ก็ยังคิดว่าหมู่บ้านนี้เป็นชาวจีนฮ่อ(ยูนนาน)อพยพ ที่ติดตามกองพล 93 มาในยุคของการเปลี่ยนแปลงของประเทศจีน ได้มีกองทัพที่อพยพลี้ภัยทางการเมืองที่ปกครองด้วยระบอบของจีนคอมมิวนิสต์มาสู่ชายแดนประเทศไทย ซึ่งมีหลายกลุ่มก้อนมาก กระจายกันอยู่ตามชายแดนไทย ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและน่าน ซึ่งจะเป็นชาวจีนยูนนาน ในยุคแรกๆ เรามักจะเรียกเขาว่า “ชาวจีนฮ่อ”
 

ในการอพยพของชาวจีนเหล่านี้ มักจะใช้วิธีเดินเท้ามาจากมณฑลยูนนาน ผ่านมาสองเส้นทางด้วยกัน คือทางฝั่งแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงรายบางส่วน จะผ่านมาทางประเทศเมียนมา และยังมีจังหวัดเชียงรายบางส่วน เช่น อำเภอเชียงของ เชียงแสน เทิงและเชียงคำ จะผ่านมาทางสิบสองปันนา แล้วจึงเดินเท้าผ่านมาทางประเทศลาว (ในปัจจุบันคือสปป.ลาว) จากนั้นจึงเข้ามาตั้งรกรากพึ่งใบบุญพระโพธิสมภารของไทยเรานั่นเอง
 

เมื่อการอพยพในยุคนั้นใช้วิธีเดินเท้าเข้ามา จึงใช้เวลารอนแรมนานมากกว่าจะมาถึงชายแดนไทย ก็ต้องผ่านมาทั้งสองเส้นทางดังกล่าว แน่นอนว่าส่วนใหญ่ของผู้อพยพ จะเป็นกลุ่มทหารหนุ่มของก๊กหมินตั้ง ที่นำพาเอาภรรยาติดตามอพยพมาด้วย ก็มีอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่การหนีภัยสงครามโดยปัจจุบันทันด่วน ก็ไม่ได้มีการเตรียมตัวเตรียมใจกันทั้นนั้น จึงได้เกิดนิยายรักระหว่างทางเกิดขึ้นมากมาย เพราะจะมีการพบรักระหว่างเดินทางกับสาวๆ ตามหมู่บ้านที่ผ่านทางมาเกือบทั้งนั้น  

 

 

ส่วนใหญ่สาวๆ เหล่านั้น จะเป็นสาวไตที่มีหลากหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ถ้ามาจากทางสิบสองปันนา ก็จะเป็นหญิงสาวชาวไตสิบสองปันนา ชาวไตลื้อ ชาวไตเขิน เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางฝั่งของทหารที่ผ่านมาทางพม่า ก็จะเป็นชาวไตหลวง ไตเขิน ไตยองเป็นสวนใหญ่ ดังนั้นถ้าสังเกตให้ดี เวลาพูดภาษาไตของพี่น้องที่เป็นลูกเมียของทหารจีนฮ่ออพยพ สำเนียงไตของพวกเขาเหล่านั้น จะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามเชื้อสายของตนเอง แต่ทุกคนก็สามารถฟังเข้าใจได้ 70-80% เลยครับ ไม่ได้มีปัญหาในการสื่อสารแต่อย่างใดครับ
 

ในช่วงที่ผมเรียนอยู่บนดอยแม่สะลองในยุคปี 60-70 แม่ค้าที่ขายอาหาร ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไตหรือไทยใหญ่ ที่เป็นภรรยาของทหารเหล่านั้นทั้งสิ้น อาหารการกิน จึงเป็นอาหารไตเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวซอย ก็เป็นข้าวซอยเชียงตุง ที่ไม่เหมือนข้างซอยที่เชียงใหม่ที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะข้าวซอยเชียงใหม่จะเป็นข้าวซอยที่ใส่กะทิ ในขณะที่ข้าวซอยเชียงตุง จะไม่ใส่กะทิ เป็นการลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว แล้วเติมน้ำต้มกระดูก แล้วจึงใส่หน้าข้าวซอย ที่ปรุงคล้ายๆ กับน้ำพริกอ่อง ตักใส่หน้าเส้นก๋วยเตี๋ยว หรือจะเป็น “ซีโต่วเฟ่น” ที่ทำมาจากเมล็ดถั่วลันเตาบด แล้วคั้นเอาน้ำถั่ว มาผลิตเป็นน้ำข้นๆ คล้ายๆ โจ๊ก แล้วใส่น้ำมันพริก กระเทียมเจียว อร่อยมาก ก็เป็นอาหารยูนนาน ที่ดัดแปลงเล็กน้อย ก็จะไม่เหมือนหรือแตกต่างจากของชาวเมียนมาหรือของคุนหมิงเล็กน้อยครับ 
 

ดังนั้นในชุมชนของชาวจีนฮ่อหรือจีนยูนนาน จะมีชาวไตหรือชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่กันหนาแน่นมาก มาอาศัยอยู่ตามชายแดนไทยเรา เขาจะยังคงรักษาวัฒนธรรมของจีนไว้ค่อนข้างจะดีมาก เพราะเขายังมีการพูดภาษาจีนยูนนาน และภาษาไทยใหญ่หรือไต อีกทั้งยังได้เรียนภาษาไทยที่โรงเรียนไทยกันหมด จึงมีความได้เปรียบเด็กพื้นราบมาก ที่สามารถพูดได้หลายภาษา ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกหลานของเขาเหล่านั้นก็ได้สัญชาติไทยโดยกำเนิดกันหมดแล้ว  ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นเด็กๆ เหล่านั้น เดินทางเขามากรุงเทพฯ เพื่อทำงานเป็นล่ามและมัคคุเทศก์  บางคนทำงานติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนปัจจุบันนี้มีฐานะร่ำรวยกันก็มีมากเลยครับ