กฎระเบียบใหม่ของการนำเข้าสินค้าทางชายแดนเมียนมา-ไทย

06 พ.ย. 2565 | 20:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์นี้ผมขออนุญาตหนึ่งอาทิตย์ ที่จะนำเอาเรื่องที่หนักๆ มาเล่าสู่กันฟัง หลังจากที่เล่าเรื่องเบาๆ มาหลายอาทิตย์แล้วครับ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเมียนมาเมื่อต้นปี 2021 เป็นต้นมา รัฐบาลเมียนมาก็ได้รับผลกระทบจากการไม่ยอมรับจากกลุ่มผู้ต่อต้านมาโดยตลอด 

 

ในการนี้ฝ่ายต่อต้านได้ใช้ทุกวิธีการ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ เพียงแค่ไม่ถึงอาทิตย์ พอรัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ ก็เริ่มมีการประท้วงบนท้องถนน และการแห่กันไปถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์  
 

จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศให้ธนาคารหยุดการดำเนินการเต็มรูปแบบชั่วคราว ต่อมาพอหันมาลงบนถนนของผู้ต่อต้าน รัฐบาลก็ใช้วิธีการที่เด็ดขาดด้วยการใช้อาวุธเข้าจัดการทันที ทำให้ฝ่ายต่อต้านต้องกลับไปตั้งหลักกันใหม่ เราจะเห็นวิธีการกลยุทธ์ของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายตั้งรับ คือรัฐบาลทหาร ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การต่อสู้กันตลอดเวลา เสมือนหนึ่งสามก๊กของเมียนมาเลยครับ
    

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา กรมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ประเทศเมียนมา ได้ออกมาประกาศอีกครั้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ผู้ประกอบการในการนำเข้าจะได้รับอนุญาตตามมูลค่าของรายได้จากการส่งออก ระยะเริ่มต้นของการปฏิบัติการนี้ จะเริ่มในพื้นที่ชายแดนเมียนมา-ไทย

เหตุผลของประกาศฉบับนี้ เขาบอกว่า เพื่อปรับปรุงมาตรการต่อต้านการฟอกเงินและการต่อต้านการให้เงินสนับสนุนการก่อการร้าย (AML/CFT) และปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการของ Financial Action Task Force (FATF) 


ส่วนธนาคารพาณิชย์ ที่ใช้ในการทำธุรกรรมการค้าชายแดนได้เฉพาะกับการค้าที่ใช้ระบบธนาคารเท่านั้น ส่วนการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อนุญาตให้ใช้ได้ สำหรับผู้นำเข้าได้รับอนุญาตให้ใช้มูลค่าของรายได้จากการส่งออกสินค้า และการส่งเงินจากต่างประเทศของแรงงานเมียนมา และทำธุรกรรมกับธนาคารที่เกี่ยวข้อง ด้วยรายได้และกระแสเงินเหล่านั้น 

 

ระยะเริ่มต้นของการปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ จะเริ่มต้นใช้ในพื้นที่ชายแดนเมียนมา-ไทย ตามคำแถลงของกรมการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา ส่วนธนาคารพาณิชย์เมียนมา มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภท เพื่อให้แน่ใจว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจะต้องไม่เกินยอดเงินมูลค่าสินค้าส่งออก ที่ถูกนำเข้าในบัญชีธนาคารพาณิชย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น 

 

ส่วนรายได้จากการส่งออกและกระแสเงินสดที่ดำเนินการหลังวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 จะได้รับการยอมรับ ผู้นำเข้าสินค้าที่ขอใบอนุญาตนำเข้าก่อนวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565 จะไม่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่กล่าวมานี้ 

 

ส่วนผู้นำเข้าที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าก่อนวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565 จะต้องนำเข้าสินค้าภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หากไม่ดำเนินการดังกล่าวตามกำหนด ใบอนุญาตดังกล่าวจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที ในการค้าชายแดนระหว่างเมียนมา-ไทย บริษัทผู้ส่งออกสินค้าสามารถนำมูลค่าการส่งออกดังกล่าวมาใช้ในการนำเข้าสินค้าได้ 


หรือหากต้องการโอนรายได้จากการส่งออกดังกล่าว ไปให้แก่บริษัทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว เพื่อนำเข้าสินค้านำเข้า ในมูลค่าที่เท่าเทียมกันก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำเข้าสินค้าโดยแนบเอกสารอ้างอิงไปยื่นขออนุญาตนำเข้าสินค้า พร้อมทั้งใช้รายได้จากการส่งออกดังกล่าวที่ ตามด่านชายแดนอื่นๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกันครับ
          


ดังที่กล่าวมานี้ ในความคิดของผมที่ได้ผ่านประสบการณ์การค้าในประเทศเมียนมามาแล้วสามสิบกว่าปี ผมคิดว่านี่เป็นการนำเอานโยบายเก่า ซึ่งในอดีตเคยใช้เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน นำมาใช้อีกครั้งครับ ในอดีตเนื่องจากประเทศพม่า(ชื่อเก่า)ได้ถูกชาติตะวันตกบอยคอต ทำให้ในยุคนั้นเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศ ด้านการคมนาคม ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร หรือแม้แต่ด้านเศรษฐกิจ 

 

ซึ่งทำให้ประเทศไม่สามารถพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศได้ เพราะค่าของเงินจ๊าดในยุคนั้นตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ผมยังจำได้เสมอว่า ในยุคนั้นค่าเงินผันผวนกว่าปัจจุบันยิ่งกว่ายุคนี้มาก อีกทั้งการลงทุนไม่สามารถจะดึงเอานักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีสองอัตรา อัตราตลาดมืดกับอัตราที่เป็นทางการ ห่างกันหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ 


ทำให้การนำเงินเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายในยุคนั้น ต้องทำกำไรหลายสิบปีกว่าจะสามารถดึงเงินลงทุนกลับมาได้ นักธุรกิจในยุคนั้น ร้อยทั้งร้อยต้องอาศัยใช้ชื่อคนพม่ามาเป็นตัวแทนทั้งหมด ทางการพม่าเองก็ได้แต่มองตาปริบๆ ก็ต้องอาศัยการป้องกันเงินตราต่างประเทศไหลออกนอกประเทศ ด้วยการประกาศให้ใช้นโยบาย Import First Export Later 


กล่าวคือ การนำเข้าสินค้าทุกชนิด ที่จะนำเข้าโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ จะต้องมีการส่งออกในมูลค่าที่เทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้า แต่อนุญาตให้นำเข้าก่อน แล้วส่งออกทีหลัง เห็นมั้ยครับว่านโยบายดังกล่าว จะมีความคล้ายคลึงกับนโยบายที่ทางการประกาศใช้ในวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมาเกือบทั้งหมด นี่คือทำไมผมถึงกล่าวว่า เป็นนโยบายเก่าที่รัฐบาลเมียนมานำเอานโยบายของพม่า(เก่า)มาใช้ไงละครับ
      


ถามว่าแล้วทำไมเขาถึงต้องนำมาใช้ละ? ก็เพราะว่าในรอบปีที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้ทำการประกาศใช้นโยบายต่างๆ ออกมาใช้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้สะเด็ดน้ำเลย ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้นโยบายห้ามนำเข้าสินค้า 6 ชนิดทางชายแดน นโยบายระงับการชำระหนี้ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ นโยบายหยวน-จ๊าด บาท-จ๊าดหรือรูปี-จ๊าด ที่ใช้ได้เฉพาะชายแดนเท่านั้น 


นั่นเป็นเพียงปฐมบทของการป้องกันเงินตราต่างประเทศไหลออก เมื่อใช้ไม่ได้ผล ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะใช้วิธีการที่เข้มข้นขึ้นครับ ละครหลังฉากในประเทศเมียนมา ยังมีอีกเยอะมากครับ ใครที่คิดว่าง่ายๆ หรืออ่านไม่ยาก ต้องคิดใหม่ได้แล้วนะครับ