ก้าวข้ามนโยบาย Local Currency Policy’s 

13 พ.ย. 2565 | 21:20 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

สุดท้ายการออกมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของเมียนมา ก็เริ่มเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ เพราะที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้มีความพยายามที่จะรักษาระดับอัตราเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่กำลังลดน้อยถอยลงมาตั้งแต่เกิดโรคระบาด COVID-19 ต่อเนื่องมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อนๆ แฟนคลับทุกท่าน ที่ติดตามบทความของผมในคอลัมม์นี้ จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ทางการของเมียนมามีความจำเป็นอย่างไร? ในการที่จะต้องนำพารัฐนาวานี้ฝ่าคลื่นลมทางทะเลของโลกาภิวัตน์นี้ให้ได้ นี่เป็นอีกบทละครหนึ่งที่เราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดครับ
 

ในช่วงที่เกิดโรคระบาด COVID-19 ใหม่ๆ ทุกคนในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ประเทศเล็ก(ทางด้านเศรษฐิจ) ก็ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า จึงไม่ค่อยจะต้องแปลกใจกันเท่าไหร่ แต่การเมืองการปกครองในประเทศเมียนมา ไม่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ หรืออาจจะเหมือนบ้างเล็กน้อยก็ได้นะครับ ที่การปกครองของเขา จะอิงเอาระบบทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ การที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไรเลย ถ้าหากเรารู้ถึงพื้นฐานหรือประเพณีปฎิบัติของเขา เพราะที่ผ่านมา 70 กว่าปี การเปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครอง ก็จะมีผู้นำทหารเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติมากๆ เลยครับ

 

เผอิญว่าประเทศเมียนมาในช่วงเปลี่ยนถ่ายการปกครองเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ (ตามความเข้าใจสำหรับนัการเมืองของเขา) ผู้นำสูงสุดของเขา ที่ได้มาจากการเลือกตั้งในยุคใหม่ในปี 2015 เป็นฝ่ายของ NLD ซึ่งก็ครองอำนาจเสียงข้างมากในสภาได้เพียงวาระเดียว คือแค่ 5 ปีเท่านั้น สงสัยว่าเขาคงจะคิดว่าเขาครองใจประชาชนไว้หมดแล้ว อีกทั้งมีประเทศประชาธิปไตยฝากฝั่งตะวันตกหนุนหลังอยู่ จึงบุ่มบ่ามไปหน่อย ไม่ดูทิศทางลมหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง ดังที่ทุกคนทราบนั่นเองครับ
 

หลังจากที่รัฐบาลทหารชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว ก็เกิดการไม่ยอมรับของประชาชนที่กำลังชื่นชมโสมนัสกับประชาธิปไตยอยู่ ดังนั้นจึงเกิดการเดินขบวนประท้วง และถูกปราบปรามจนต้องระหกระเหินกันอย่างที่เห็น การต่อสู้ทั้งในทางลับและในทางเปิดเผย จึงทำให้ส่งผลกระทบมายังภาคเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลเองก็ต้องแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจกันไปครับ
 

แต่ในวันที่หลังจากเกิดปรากฎการณ์ของโรคระบาด ที่เศรษฐกิจโลกทุกประเทศ ต่างต้องมุ่งหน้าแก้ไขปัญหาของตนเองกันทุกประเทศ แม้แต่ยักษ์ใหญ่ที่คอยช่วยเหลืออย่างจีนและรัสเซียเอง ก็มีปัญหาไม่แพ้กัน ประเทศเมียนมาจึงต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ดังนั้นการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของเมียนมา ที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดน้อยถอยลงไปอย่างมีนัยยะนั้น จึงต้องบังเกิดครับ

 

ในช่วงแรกๆ ที่อยู่ในระหว่างชุลมุนวุ่นวายกับการป้องปรามกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยนั้น รัฐบาลไม่ต้องออกแรงมากในด้านการแก้ไขปัญหานี้ เพราะเรือเดินสมุทรมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กันทุกประเทศ ดังนั้นจึงไม่ต้องไปกีดกันการนำเข้าสินค้าทางเรือ ปล่อยให้มีการนำเข้าได้ตามปกติ แต่พอต่อมาระยะหนึ่ง เห็นว่าเหตุการณ์การลดลงของเงินทุนสำรองลดลง จากการแทรกแซงของชาติตะวันตก ที่มีการออกมาตรการต่างๆ ออกมาแซงชั่น รัฐบาลเมียนมาจึงเริ่มได้ออกนโยบายห้ามการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟื่อย ที่มาจากทางด่านชายแดน มีสินค้าที่ถูกสั่งห้ามอยู่หลายประเภท คงไม่ต้องอธิบายแล้วนะครับ
 

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อช่วงต้นปี เมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ก็เริ่มใช้มาตรการหยวน-จ๊าดออกมา อีกสองเดือนต่อมา ก็ประกาศใช้บาท-จ๊าดและรูปี-จ๊าด ที่เรียกว่า “Local currency Policy’s” ตามมา เพิ่มบรรเทาการขาดแคลนเงินเหรียญสหรัฐ แต่ปัญหาที่แก้เริ่มไม่เป็นผล จึงได้ออกมาตรการต่อมา คือการพักการชำระหนี้ที่เป็นเงินเหรียญ มาตรการนี้ส่งผลให้ประเทศต่างๆ หมดโอกาสได้ทำการค้ากับประเทศเมียนมาได้อย่างสิ้นเชิง
 

แต่สำหรับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศอินเดียและประเทศไทย เรามีมาตรการ Local Currency Policy’s มาช่วยชีวิตเราได้ ต่อมาเมื่อปัญหายังไม่รับการบรรเทาลง รัฐบาลเมียนมาจึงออกมาตรการใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม นั่นก็คือการออกมาตรการใช้มูลค่าการนำเข้าสินค้า จะต้องมีการส่งออกในมูลค่าเท่าเทียมกัน มาหักลบกลบหนี้ หรือที่เรียกว่ามาตรการ “เอิร์นนิ่งมันนี่” ที่เคยใช้ในอดีต เมื่อครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคปี 1988 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรฐษกิจมาก และรัฐบาลในยุคนั้นเคยนำมาใช้ไปแล้วนั่นเองครับ
 

ในช่วงที่ผ่านมาของการใช้นโยบายควบคุมด้วยบาท-จ๊าด ประเทศไทยเราเองจะได้รับอานิสงส์จาก Local Currency Policy’s แต่คราวนี้เราคงไม่สามารถแล้วละครับ เพราะมาตรการนี้ได้ก้าวข้ามตัว Local Currency Policy’s ไปแล้วเรียบร้อย รัฐบาลไทยเราคงจะต้องเหนื่อย ด้วยการออกแรงมาช่วยเจรจากับทางรัฐบาลเมียนมา ให้ช่วยผ่อนปรนผลกระทบในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนแล้วละครับ หากปล่อยผ่านไปเฉยๆ ผมเชื่อว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเรา จะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะวันนี้เราพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก เพราะการส่งออกไปทางด้านอื่นๆ ตัวเลขก็ลดลงไปมาก จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลง
 

อีกทั้งปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ส่งผลให้ประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเรา มีปัญหากันหมด ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีปัญหามิใช่น้อย ดังนั้นประเทศเพื่อนบ้านเรา จึงเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญสำหรับเราในวันนี้ครับ ในส่วนของประเทศเมียนมาเอง ก็มีมูลค่าการค้าที่สูงมาก ซึ่งนับว่าเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับสองในภูมิภาคนี้ หากปล่อยให้ออกมาตรการนี้มา มูลค่าการค้าต้องเสียหายอย่างมากแน่นอนครับ