ล้มกฎหมาย 200 ฉบับ “เลิกขัง-จำคุก” ปรับตามฐานรายได้ 

18 ส.ค. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     ก้าวพ้นวังวนของกลเกมในรัฐสภาที่ล่มแล้วล่มอีก จนประชาชนเอื่อมระอาสิ้นศรัทธากับรัฐสภาเมืองไทยที่เต็มไปด้วยผู้แทน

 

     มาติดตามเรื่องราวดีๆ ที่นานๆ ที “รัฐสภาและรัฐบาล” จะสร้างปรากฏการณ์ผ่านการออกกฎหมายมาบังคับใช้ที่เป็น “คุณกับประชาชน”

 

     ที่ผ่านมาการออกกฎหมายใดๆ ของกระบวนการทางรัฐสภา มักจะออกมาในรูปของ “บังคับ ห้าม ลงโทษ” เป็นด้านหลัก

 

     แต่กฎหมายที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงฉบับใหม่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐสภาไทยชุดนี้ ไม่มีอะไรเทียบเคียงกับ การออกกฎหมาย “พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย” อีกแล้ว

     “พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย” เป็นกฎหมายใหม่ที่จะช่วยทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนตัวเล็ก หาเช้ากินคํ่า ไร้หลักประกันแห่งชีวิต ที่กระทำผิดทางอาญาประเภทไม่รุนแรง “ไม่ต้องโทษถึงจำคุก-ไม่ต้องถูกกักขังระหว่างคดี-ไม่ถูกบันทึกประวัติเป็นบัญชีดำให้ประวัติด่างพร้อย” อีกต่อไป

 

     ความผิดทั้งหลายแหล่ จะคงไว้แค่ “การจ่ายค่าปรับ-บริการสั่งคม-บำเพ็ญประโยชน์” แทนเท่านั้น...ไชโย!

 

     ยังมีอีก การคำนวณค่าปรับของพ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย จะคิดจากฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ

 

     ฐานะทางเศรษฐกิจคิดจากตรงไหน เนื่องจากพ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย ไม่มีการระบุค่าปรับเป็นจำนวนเงินตายตัว แต่ระบุเป็นจำนวนวัน ตามระดับความรุนแรงของฐานความผิด แต่ละวันจะแปรเป็นจำนวนเงินไม่เท่ากันอีก 

     เพราะคิดเงินค่าปรับตามรายได้สุทธิของผู้กระทำความผิดในแต่ละคดีต่อ 1 วันโดยอิงจากฐานการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลประจำปี

 

     คิดเป็นสูตรง่ายๆ ครับ “ค่าปรับ = จำนวนวัน x รายได้สุทธิต่อวันของผู้กระทำความผิด”

 

     ไม่พอยังใจดีให้หักค่าใช้จ่ายที่ผู้กระทำความผิด ต้องดูแลรับผิดชอบบุคคลอื่นให้ด้วย ใครดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายก็หักออกไป เพื่อมิให้บุคคลอื่นต้องมาเดือดร้อน

 

     ข้อดีต่อมา ถึงแม้จะไม่จ่ายค่าปรับและถูกส่งฟ้อง ศาลก็อาจจะพิจารณาลดโทษหรือแค่ตักเตือน หากเป็นการกระทำความผิด เพราะความยากจนข้นแค้น...

 

     กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการให้ความเป็นธรรม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

     ปรบมือให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  และรัฐสภาไทยหน่อยเถอะครับ…

 

     ด่ารัฐบาลและนักการเมืองกันมาเยอะแล้ว ทำดีก็ต้องชื่นชมกันหน่อยสิครับ...

 

     ผมไปติดตามรายละเอียดแล้วตกตะลึงมากครับ เพราะกฎหมายนี้เป็นการล้างบทบัญญัติการลงโทษของกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศไทยถึง 200 ฉบับ

 

     บทบัญญัติของกฎหมายการปรับเป็นพินัยได้เปลี่ยนโทษปรับทางอาญาในกฎหมาย 200 ฉบับ ให้เป็นโทษปรับทางพินัย ที่ไม่ใช่ต้องโทษทางอาญา จึงไม่มีการกักขัง ในความผิดของกฎหมาย 200 ฉบับอีกต่อไป...ดีมั้ยครับ

 

ล้มกฎหมาย 200 ฉบับ “เลิกขัง-จำคุก” ปรับตามฐานรายได้ 

 

     กฎหมายการปรับเป็นพินัยนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบการกำหนดโทษใหม่ ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการศึกษากฎหมายของประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และโปรตุเกส แล้วนำมาประยุกต์แก้ไขให้เหมาะสมกับประเทศไทย

 

     ผมสรุปให้ฟังอีกที กฎหมายการปรับทางพินัยมีข้อดี่สุดคือ เปลี่ยนการลงโทษ จากการทำผิดทางอาญาที่ไม่รุนแรง ไม่มีโทษถึงจำคุก แต่เป็นการลงโทษปรับเท่านั้น

 

     1. ผู้ทำผิดไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือให้เสียประวัติ เสียชื่อเสียง กระทบต่อหน้าที่การงาน

 

     2. ผู้ทำผิดรับโทษปรับอย่างเดียว โดยไม่มีการกักขังระหว่างพิจารณาคดี ไม่ต้องเป็นภาระในการประกันตัว

 

     3. คนทำผิดถ้าไม่มีเงิจ่ายค่าปรับ สามารถผ่อนชำระได้ หรือจะเลือกทำงานบริการสังคมแทนก็ได้ ครบตามกำหนดก็พ้นผิด

 

     กฎหมายการปรับเป็นพินัย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย  แก้ปัญหาคดีล้นศาล คดีเล็กน้อยใช้การปรับเป็นพินัยแล้วก็จบ

 

     แก้ปมใหญ่ที่คาใจผู้คน คือ ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม

 

     เนื่องจากศาลจะใช้เวลาไปพิจารณาคดีสำคัญๆ มากขึ้น เพี้ยง!

 

     ผมหวังว่าคำพูดของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยืนยันว่า นี่คือการการชำระสะสางกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนชาวไทย จะเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนหลังจากนี้ไป

 

ล้มกฎหมาย 200 ฉบับ “เลิกขัง-จำคุก” ปรับตามฐานรายได้ 

 

     กรณีตัวอย่างความผิดเล็กน้อย ที่จะเปลี่ยนเป็นโทษปรับทางพินัย

 

  1. ไม่แสดงใบขับขี่ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  2. สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  3. จอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  4. เสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในสถานศึกษา หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แก่บุคคลซึ่งมีอายุตํ่ากว่า 20 ปีบริบูรณ์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  5. โฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
  6. ใช้ยานยนต์บนทางหลวง หรือสะพาน โดยเจตนาหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าธรรมเนียม มีความผิดต้องระวางโทษปรับ เป็นจำนวนสิบเท่าของอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนด  
  7. ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ยาสูบกับสินค้าอื่น การให้บริการ หรือสิทธิประโยชน์อื่น แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท  
  8. นำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งไม่ต้องห้าม โดยไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับ และไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท 
  9. นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือกระทำการต้องห้ามในเขตวนอุทยาน โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 
  10. ชุมนุมโดยไม่แจ้ง ไม่แจ้งก่อนเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท  
  11. ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง จดทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบทะเบียน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท 
  12. สร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่น ปลูกต้นไม้หรือพืชผลในเขตเดินสายไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 500 บาท  
  13. ไม่ส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เด็กมิได้เรียนในสถานศึกษาโดยปราศจากเหตุอันสมควร ปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

 

     นี่คือการเริ่มต้นในการปฏิรูปกฎหมายอาญาครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

 

     รอให้หน่วยงานต่างๆ ปรับตัวกันเพื่ออกประกาศล้อตามกฎหมายนี้ใน 240 วัน นับตั้งแต่วันนี้กันนะครับ!