ฝ่ายค้านยื่นประธานสภา ส่งศาลรธน. ตีความปม"นายกฯ 8 ปี"

17 ส.ค. 2565 | 07:48 น.

ฝ่ายค้านยื่นประธานสภา ส่งศาลรธน.วินิจฉัยหมดวาระ 8 ปี ด้าน“หมอชลน่าน” ภาวนาอย่าชิงยุบสภาก่อนครบวาระ หวั่น เกิดสูญญากาศทางการเมือง ขณะที่ “ชวน” ระบุหากคำร้องครบถ้วน ส่งศาล 1-2 วันนี้

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่รัฐสภา ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  พร้อมด้วยตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาฯ เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

 

นพ.ชลน่าน แถลงว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อ 171 คน ยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่

 

โดยสาระสำคัญในหนังสือ ประกอบไปด้วย ข้อ 1.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ข้อ 2.รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี โดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องและมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น
 

ฝ่ายค้านยื่นประธานสภา ส่งศาลรธน. ตีความปม"นายกฯ 8 ปี"

ข้อ 3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณีมาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา ข้อ 4.เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่

 

ขณะที่นายชวน กล่าวภายหลังจากรับหนังสือว่า จะนำไปตรวจสอบคำร้องว่ามีรายชื่อครบถ้วน ของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ เป็นไปตามกฎหมายคือ 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.คือ 48 คน หรือไม่

 

จากนั้นคงจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ส่วนร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กกต.ได้ส่งความเห็นกลับมาแล้วว่าไม่ข้องใจ แต่ระหว่างนี้ ประธานสภาฯจะต้องชะลอร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง เอาไว้ก่อน 3 วัน เพื่อดูว่าจะมี ส.ส.เข้าชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นกฎหมายที่มีความชอบหรือไม่

 

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวิคำวินิจฉัย ให้นายรัฐมนตรีพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี วันที่ 23 ส.ค.ผู้ที่รักษาการนายกฯ จะเป็น พล.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เขียนรองรับให้ครม.ทั้งคณะปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องไป และรักษาการแทน

 

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังรักษาการในตำแหน่งนายกฯต่อไปได้ กรณีที่นายกฯไม่สามารถทำหน้าที่ได้มี 4 กรณี 1.มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตร 98 2.มีความไม่ซื่อสัตย์ไม่สุจริต เป็นที่ประจักษ์ 3.ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง 4.ทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ

"เรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง8ปี ไม่อยู่ในข้อห้ามในการทำหน้าที่รักษาการ ถ้า พล.อ.ประวิตร จะรักษาการได้ ก็ต่อเมื่อศาลสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมา" 

 

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นตำแหน่งในวันที่ 23 ส.ค.จะใช้วิธีรักษาการไปเรื่อยๆ จนใกล้ครบวาระ ไปถึง มี.ค.2566 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้ารัฐสภาฯ ยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะมาจากในบัญชี หรือนายกรัฐมนตรีคนนอก ก็มีสิทธิ์ที่จะรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกฯคนใหม่เข้ามา เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาว่า จะต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ให้ได้ ภายในกี่วัน

ฝ่ายค้านยื่นประธานสภา ส่งศาลรธน. ตีความปม"นายกฯ 8 ปี"

ถ้าเป็นกรณีนายกฯ รักษาการ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอำนาจทำได้เหมือนกับเป็นนายกฯในเวลาปกติ ทั้งการพิจารณางบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้าย แต่ถ้าเป็นการยุบสภาฯ มีข้อห้าม โดยห้ามแต่งตั้งโยกย้าย พิจารณางบประมาณ ห้ามใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง


เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สั่งให้นายกฯยุติการปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ ยังทำหน้าที่ต่อไปได้เรื่อยๆ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่า หลังจากรับเรื่องแล้ว จะต้องยุติปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ที่ศาล เมื่อรับเรื่องแล้วจะสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่เลยหรือไม่ หรือจะสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ศาลวินิจฉัย

 

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าวันที่ 22 ส.ค.สภาฯ จะส่งคำร้องของฝ่ายค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ และมั่นใจว่า ศาลจะรับไว้พิจารณาอย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการวินิจฉัยได้ ศาลคงให้ความสำคัญ เร่งกระบวนการวินิจฉัย

 

เมื่อถามว่า นักวิชาการด้านกฎหมายบางคนระบุ วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ จะนับย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557 ในทางที่เป็นโทษไม่ได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แล้วแต่ศาลจะใช้ดุลพินิจ แต่เรื่องนี้ก็มีข้อถกเถียงทางกฎหมายมหาชน ที่บอกว่า การนับย้อนหลังต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพประชาชนเท่านั้น

 

แต่เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ กรณีนี้คงแล้วแต่ ศาลจะใช้ดุลพินิจออกมาทางไหน แต่ยังมั่นใจว่า ศาลจะใช้ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาประกอบในคำวินิจฉัย โดยเฉพาะข้อเท็จจริง ที่รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้อยู่ยาว จะผูกขาดอำนาจ จะหยิบมาพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะอยู่ยาวจะเกิดความขัดแย้ง เชื่อว่าศาลคงจะหยิบเงื่อนไขตรงนี้มาร่วมพิจารณาด้วย


ส่วนกระแสข่าวนายกฯ จะชิงยุบสภาก่อน 23 ส.ค.หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่เหตุผลในการยุบสภาฯ ต้องเกิดข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาฯ แต่ขณะนี้ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น สภาฯ ไม่มีความผิดใดๆเลย ถ้าจะอ้างว่ายุบสภาฯ คงยาก

 

ถ้ายุบก่อนวันที่ 23 ส.ค.จะไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายจะค้างไปต่อไม่ได้ ยกเว้นแต่ได้ส่งร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ทูลเกล้าฯ ไปแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการทูลเกล้าฯ ถ้ายุบตอนนี้ ก็ไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง เข้าสู่สุญกาศ นายกฯ จะอยู่ยาว แต่ไปเสริมแรงต้านของประชาชน ให้เกิดแรงต่อต้านอย่างหนัก เชื่อว่า นายกฯ ไม่กล้าทำ ภาวนาอย่าให้ทำ