ปมร้อน"นายกฯ 8 ปี"สะเทือนตลาดหุ้นไทยแค่ไหน เพราะอะไร

11 ส.ค. 2565 | 04:35 น.

ปม"นายก 8 ปี" นักวิเคราะห์ ฟันธงไม่กระทบตลาดหุ้นไทย ชี้นักลงทุนเล็งผลเลือกตั้งต้นปีหน้ามากกว่า  บวกกับปัจจัยเศรษฐกิจไทยฟื้น มาตรการขึ้นค่าแรงกระตุ้นกำลังซื้อ เชื่อขั้วอำนาจปัจจุบัน สามารถจัดการผ่านปัญหา 24 ส.ค.นี้ ได้  

 

ประเด็น"นายกฯ 8 ปี" การนับอายุของนายกรัฐมนตี 8 ปี ตามรัฐธรรมมนูญ มาตรา 158 ว่า จะเริ่มนับจากวันที่ 24 ส.ค. 2557 ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ (หากนับตามนี้ นั่นหมายถึงวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะจบสิ้นในวันที่ 24 ส.ค.2565 ) หรือนับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญ ในเร็วๆ นี้

 

อย่างไรก็ดี"ปมร้อน"ดังกล่าวนับถอยหลังเข้ามาทุกขณะ ซึ่งหวั่นกันว่าจะกระทบความเชื่อมั่น การลงทุนในตลาดหุ้นหรือไม่ เรื่องนี้ "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล " ได้สำรวจมุมมองของนักวิเคราะห์ ดังนี้

 

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที (ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยว่า หากเปลี่ยนคน แต่นโยบายไม่เปลี่ยน กล่าวคือเปลี่ยนตัวนายกฯ ซึ่งมาจากคนในพรรคหรือขั้วอำนาจเดิม เชื่อว่าไม่มีนัยยะสำคัญต่อตลาดหุ้น เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ ใกล้จะครบเทอมในเดือน ธ.ค-ม.ค.2566  รอการประชุมเอเปกที่จะจัดในประเทศไทยเสร็จสิ้น นักลงทุนจึงเล็งผล"การเลือกตั้งใหม่" มากกว่า 

 

"ในอดีตเรื่องการให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว สมัยที่ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายก ฯ ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้พ้นจากตำแหน่ง  เมื่อวันที่ 7 พ.ค.57 จากนั้นนายนิวัฒน์ธำรง  บุญทรงไพศาล เข้ามาเป็นนายกฯ ในวันเดียวกัน แต่เป็นได้ 15 วัน ก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.57 ดังนั้นต้องดูครั้งนี้ศาลฯจะวินิจฉัยอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่ได้ส่งผลมากนัก " 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มองการเปลี่ยนแปลงตัว "นายกฯ" ว่าเป็นบวก โดยมองในภาพใหญ่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในต้นปี 2566 ตามกำหนดที่ครบเทอม และรัฐบาลมีเวลาในการเตรียมการวางแผน การออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย ถึงแม้จะมีความเสี่ยงในการ"ครบวาระ 8 ปีของนายก ฯ" ในวันที่ 24 ส.ค.65 นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาด  แต่ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่

 

ประกอบกับปัจจัยบวก โมเมนตัมเศรษฐกิจครึ่งปีหลังของไทยที่เริ่มฟื้นตัว และรัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆสนับสนุน อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆนี้ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ช่วยลดปัญหาในเรื่องหนี้เสีย จากความสามารถในการคืนหนี้

 

"เบื้องต้นเรามองเป็นบวก จากการเลือกตั้งใหม่ โมเมนตัมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และโครงการต่างที่จะเกิดขึ้น เป็นผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเช่าซื้อจากคุณภาพลูกหนี้ที่ดีขึ้น ส่วนหุ้นกลุ่มอื่นๆ ดีขึ้นอยู่แล้วตามการเปิดเมือง อาทิกลุ่มการท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร ทั้งนี้ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ยังคงเป้าดัชนี SET ปีนี้กรอบ 1,540 - 1,730 จุด "  

ด้านนักวิเคราะห์จากโบรกใหญ่ ให้ความเห็นว่า การเมืองไทยอยู่ในภาวะ"ลุ่ม ๆดอนๆ " มานาน การจะเปลี่ยนตัวนายกฯหรือไม่  ไม่มีผล เพราะนโยบายไม่ได้เปลี่ยน นักลงทุนให้น้ำหนักประเด็นเศรษฐกิจ ปัจจัยต่างประเทศมากกว่า อย่างไรก็ดี เชื่อว่าขั้วอำนาจปัจจุบันสามารถจัดการผ่านปัญหา "วันที่ 24 ส.ค."ไปได้ โดยที่"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ยังอยู่ต่อ 

 

"ปมนายกฯ 8 ปี  เป็นประเด็นบนปัญหา 8 ปีที่ พลเอกประยุทธ์ บริหารมากกว่า ปัญหาสะสมมาก แต่ไม่ได้รับการแก้ไข และนับวันแรงเฉียดทานทางการเมืองยิ่งมากขึ้น การจะอยู่ 8 ปี 10 ปี ไม่ใช่ประเด็น นับประสาอะไรกับการรัฐประหาร คนไทยยังยอมรับได้  ขึ้นอยู่ที่"ผลงาน" ดังนั้นการหยิบประเด็นว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ  โดยใช้แง่กฏหมาย จึงเป็นการโจมตีที่น็อคง่ายกว่า ดีกว่าไปถกเถียงเรื่องผลงานที่ไม่จบ"