อัยการธนกฤต เปิดชื่อ"บิ๊กป้อม"นายกฯรักษาการ หาก"บิ๊กตู่"พ้นนายกฯ 8 ปี

11 ส.ค. 2565 | 04:39 น.

อัยการธนฤต เปิดรัฐธรรมนูญ ชี้หากศาลตัดสิน 'บิ๊กตู่' พ้นนายกฯ ครบ 8 ปี 'บิ๊กป้อม'นั่งรักษาการ กรณีเลือกยุบสภา 'บิ๊กตู่' ยังนั่งนายกฯ รักษาการเองต่อได้จนกว่า ครม.ใหม่

วันที่ 11 ส.ค.2565  ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กถึงขั้นตอนกรณีนายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งเพราะเหตุดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีว่า เปิดกฎหมาย หากนายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งเพราะเหตุดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

กรณีที่จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบกำหนดเวลา 8 ปี ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง หรือไม่นั้น


 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา 8 ปี ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

บทความนี้จึงจะเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ เพื่อเป็นความรู้ทางกฎหมายแก่ผู้สนใจ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะคาดการณ์หรือเกี่ยวข้องกับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

 

1.นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการ

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 ด้วยเหตุที่ดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) )

 

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ดังกล่าวข้างต้น ยังสามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (รัฐธรรมนูญมาตรา 168 (1) )

 

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเว้นแต่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยผู้ที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการในช่วงเปลี่ยนถ่ายไปสู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดว่า

 

ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ซึ่งหากพิจารณาตามลำดับแล้ว รองนายกรัฐมนตรีที่จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีก็คงจะเป็นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

นอกจากนี้ เมื่อรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา 8 ปี ดังกล่าว จะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามมาตรา 158 และมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 (รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคสอง) ดังจะกล่าวต่อไปนี้

 

2.นายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

การให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอนุทิน ชาญวีระกูล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ โดยต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272)


3.นายกรัฐมนตรีนอกบัญชี

หากไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ดังกล่าวข้างต้นได้ สามารถดำเนินการขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ โดยสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา

 

ในกรณีนี้ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และรัฐสภาจะต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้

 

จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยมติเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (รัฐธรรมนูญ มาตรา 272)

 

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า หาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้จะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะซึ่งรวมทั้งพลเอกประยุทธ์เองด้วยพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) แต่พลเอกประยุทธ์ยังคงสามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

 

แต่หากพลเอกประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งเพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา 8 ปี พลเอก ประยุทธ์จะไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 168 (1))