เส้นทางสู่ความยั่งยืน ทำจริงไม่ง่ายอย่างที่คิด

06 พ.ค. 2566 | 08:05 น.

เส้นทางสู่ความยั่งยืน ทำจริงไม่ง่ายอย่างที่คิด : คอลัมน์บทความ โดย Geert-Jan (GJ) van der Zanden Senior Advisor และ Visiting Professor Transformational Sustainability Leadership, Sasin School of Management หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,885 หน้า 5 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม 2566

 

การสัมมนา  EARTH JUMP 2023: New Frontier of Growth โดยธนาคารกสิกรไทยที่ผ่านมา มีการนำเสนอแผน การเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนจากหลายภาคส่วน คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอกลยุทธ์ของประเทศไทยในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย net zero หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทยต่างส่งเสริม ESG และคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน

 

การประชุมดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผม อยากแชร์ความคิดเห็นในเรื่องของโอกาสและการก้าวต่อไปของประเทศไทย

 

เป็นที่แน่ชัดว่า ภาคการเงินต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ไทยถือเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้าน supply chain ส่งผลไปจนถึงความล้มเหลวของบริษัทต่างๆ ในการทำตามข้อกำหนดที่เกี่ยวกับ พรมแดนคาร์บอน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanisms) ของสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา 

 

 

Swiss Re ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำนายว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจลด GDP ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงได้ถึง 29% ภายในปี พ.ศ. 2593 ความเสี่ยง ด้านความยั่งยืน เช่น ผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการขาดแคลนทรัพยากรจำเป็นต้องได้รับการจัดการและบรรเทา และจำเป็นต้องมีการระดมทุนเพื่อช่วยให้ทั้งบริษัท และครัวเรือนสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ 

 

การเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้นนั้นไม่ควรถูกมองว่า เป็นภัยคุกคาม แต่เป็นการมอบโอกาสทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้ ให้กับบริษัทที่ริเริ่มพัฒนาหาทางออกไปสู่ความยั่งยืนให้กับตัวเอง และที่สำคัญกว่านั้นเพื่อรับมือกับความต้องการด้านความยั่งยืนของลูกค้า 

 

 

เส้นทางสู่ความยั่งยืน ทำจริงไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

 

ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า การวางแผนการใหญ่ หรือ ความตั้งใจอันยิ่งใหญ่นั้น อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้ แม้ว่ารัฐบาลและภาคธุรกิจจะกำหนดพันธกิจด้านความยั่งยืนไว้อย่างยิ่งใหญ่ แต่โลกก็กำลังวิ่งตามเป้าหมายนั้นไม่ ทันขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการดำเนินการจริงมักมีอุปสรรค เช่น ความขัดแย้งด้านการเมือง ผลประโยชน์ทางอุตสาหกรรม และขาดการสนับสนุนทางสังคม 

 

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนและน่าเศร้าใจคือ พันธสัญญา Net Zero ที่เกิดขึ้นเพื่อจำกัดความร้อนของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเพื่อทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 45% จากระดับปี พ.ศ. 2553 ภายในปี พ.ศ. 2573 แต่จากข้อมูลระดับชาติที่มีอยู่ในขณะนี้ คาดว่า การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลับจะเพิ่มขึ้นอีก 10% ภายในปี พ.ศ. 2573 (UN 2565) 

 

นอกจากนี้ การทำตามพันธสัญญาเหล่านี้ยังดำเนินไปอย่างล่าช้ากว่าแผนอย่างมาก (IPCC,  2566) สำหรับประเทศไทยนั้น Net Zero ที่วางแผนไว้ในปี พ.ศ. 2608 เป็นหนึ่งใน Net Zero ที่จะบรรลุ เป้าหมายช้าที่สุด “การซื้อเวลา” อาจเป็นประโยชน์เนื่องจากเทคโนโลยีสะอาดจะเติบโตต่อไป และราคาจะถูกลงในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทับถมรอมานานก็จะใหญ่ขึ้นตามมาเช่นกัน ที่สำคัญกว่านั้น การตั้งเป้าหมายที่ไกลเกินไปนั้น ไม่สามารถจะสื่อสารถึงความเร่งด่วน รวมถึงเสียโอกาสต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมไทยอาจขาดโอกาสในการกลายเป็น Green Champions 

 

นอกจากนี้ Net Zero ของประเทศไทยยังดูเหมือนว่า จะพึ่งพาการใช้ CCUS (Carbon Capture, Usage and Storage) เป็นหลัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลให้การสนับสนุน แต่เป็นวิธีที่คุ้มค่าน้อยกว่าทางเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจหมุนเวียน ก็มีบทบาทสำคัญในแผนของประเทศไทย ซึ่งแม้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จะได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่ก็ยังไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ โลกได้ดูดใช้ทรัพยากรในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามากกว่าในศตวรรษที่ 20 ทั้งหมดรวมกัน ระดับการรีไซเคิลได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 9.1% ในพ.ศ. 2561 เหลือเพียง 7.2% ในพ.ศ. 2566 (CGRI) 

 

การวัดปัจจัย ESG เพื่อ การจัดการที่ดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจัดการ ESG ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก การได้มา ซึ่งข้อมูล ESG นั้นมีค่าใช้จ่ายสูง และมีปัญหาด้านคุณภาพข้อมูล 

 

ในขณะที่การตีความข้อมูลก็มีความคลุมเครือเกินไป (rating ที่แตกต่างกันโดยหน่วยงานที่แตกต่างกัน) และซับซ้อนเกินไปสำหรับนักลงทุน ทำให้เกิดการฟอกเขียวได้ง่าย ESG taxonomy ซึ่งนำโดยสหภาพยุโรป และกำลังพัฒนาในเอเชียจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บางส่วน 

 

ความสำเร็จในการนำระบบ ESG ไปใช้อย่างแพร่หลายนั้นต้องทำให้ง่ายขึ้น และต้องช่วย SMEs ในการนำไปใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามทำอยู่ผ่าน ESG Academy 

 

ที่สำคัญที่สุด ESG rating system ให้ความสำคัญกับการจัด การความเสี่ยงของธุรกิจรูปแบบ เดิม มากกว่าโอกาสในการสร้างผล กระทบและการเติบโตด้วยนวัตกรรมใหม่ การเน้นไปที่การนำ ESG ไปใช้อย่างเดียวจะทำให้เสี่ยงต่อ “การที่บริษัทจะบรรลุเป้าหมายแต่พลาดประเด็น” 

 

การคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนนั้น บริษัทจะต้องสร้างวัฒนธรรม และปรับกรอบความคิดด้านความยั่งยืนให้ทั่วทั้งองค์กร เนื่องจากความยั่งยืนจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ของการเติบโต  

 

สิ่งนี้จะต้องใช้พนักงานที่ใส่ใจและมีทักษะด้านการสร้างความยั่งยืนจำนวนมาก (green employees) ไม่ใช่เฉพาะระดับบนสุดขององค์กร เพื่อรวบรวมความคิดริเริ่มทั่วทั้งองค์กรให้เป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกัน 

 

ตามตัวเลขของ LinkedIn การเติบโตของตำแหน่งงานด้านความยั่งยืน (+30% ในเอเชียแปซิฟิกระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง 2564  เทียบกับ 70% ในยุโรปและ 40% ในสหรัฐอเมริกา) กำลังแซงหน้าอุปทาน และคาดการณ์ว่าโลกจะขาดแคลน green talents ภายในปี พ.ศ. 2569 

 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความยั่งยืนโดยเร็วที่สุด ศศินทร์ฯ เองก็กำลังบูรณาการเรื่องความยั่งยืนในหลักสูตร MBA และ Executive  MBA ตลอดจนกำลังพัฒนาหลัก สูตรประกาศนียบัตรด้าน Practical Sustainability Leadership สำหรับผู้นำที่ต้องขับเคลื่อนความยั่งยืน 

 

ในขณะเดียวกันศูนย์ความยั่งยืนและการเป็นผู้ประกอบการของศศินทร์ฯ หรือ Sasin SEC (Sustainability & Entrepreneurship Center) ก็มีการจัด workshop “Value Discovery” เพื่อช่วยให้ลูกค้าองค์กรมองเห็นโอกาสทาง การค้า และสามารถพัฒนาแผนงานเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ จากเทรนด์ด้านความยั่งยืน 

 

เมื่อวางแผนแล้ว เราต้อง หาทางทำให้สำเร็จให้ได้!