"พิธีกรรม... ของพุทธ"

19 ม.ค. 2565 | 20:00 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 00:23 น.

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราช รามัญ

เราต้องทราบถึงพื้นฐาน ของพิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในแต่ละศาสนาก่อนว่า โดยมากจะเพื่อเคารพศาสนา ตลอดทั้งเพื่อการอยู่ร่วมกันโดยมีความคิดความเห็นความชอบไปในทางเดียวกัน

 

ในพุทธศาสนาของประเทศไทยมีพิธีกรรมมากมายที่ปรากฏขึ้น อาทิ ปลุกเสกพระเครื่อง อธิษฐานจิตพระเครื่อง การสร้างเครื่องรางของขลังต่างๆ พิธีกรรมรดน้ำมนต์เจิมขึ้นบ้านใหม่ และอื่นๆ อีกมากมาย

แท้จริง พิธีกรรมที่กล่าวมานี้หาใช่เป็นของพุทธศาสนาที่มาตั้งแต่โบราณ ไม่แต่เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อความสบายใจ ของผู้ที่ มีความศรัทธา แล้วอยากจะมีชีวิตที่สงบร่มเย็น มั่งคั่ง จึงได้นิมนต์พระภิกษุผู้ทรงศีลมากระทำพิธีกรรมต่างๆ ให้

 

ในพุทธศาสนามีพิธีกรรม อยู่ไม่กี่อย่าง ที่เป็นพิธีกรรม พระพุทธเจ้าทรงประกาศเอาไว้ว่าพึงควรกระทำ

 

การตักบาตรตอนเช้า เป็นการถวายทาน แด่พระภิกษุสงฆ์ นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า แนะนำให้ชาวพุทธพึงควรกระทำ

พิธีกรรมการถวายสังฆทาน หมายถึงการนำเอาสิ่งของที่ญาติโยมถวาย รวมเอาไว้ในส่วนกลางของสงฆ์ พระสงฆ์รูปใดในวัดขาดเหลือสิ่งใดสามารถนำเอาไปใช้ได้อย่างเสมอภาคกัน

 

พิธีกรรมกฐิน ซึ่งใน 1 ปีจะสามารถรับกฐินได้เพียงหนึ่งครั้ง อานิสงส์กฐินก็คือผู้ใดถวาย ย่อมได้รับอานิสงส์มากกว่าทานธรรมดาปกติ เพราะ 1 ปีมีเพียงแค่ครั้งเดียว

 

พิธีกรรมการบรรพชาอุปสมบท เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุพึงกระทำได้ต่อผู้ที่มีศรัทธาอยากจะบวชในพระพุทธศาสนา

 

และทั้งหมดนี้คือพิธีกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาต ให้ญาติโยมสามารถทำได้ เพื่อประโยชน์สุข ของญาติโยม ในด้านของจิตวิญญาณ ในสิ่งที่จะได้รับที่เรียกว่าบุญกุศล ส่วนพระสงฆ์ก็เนื่องชีวิตอยู่ได้เพราะมีญาติโยมอุปถัมภ์

 

ส่วนพิธีกรรมอื่นๆ ที่กล่าวมาตั้งแต่ขั้นต้นนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่และเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจจะเป็นพิธีกรรมเฉพาะในพุทธศาสนา

 

ประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ดังนั้นถ้าท่านใดพึงปรารถนาที่จะต้องการ มีข้อวัตรปฏิบัติ เกี่ยวกับพิธีกรรมของพระพุทธศาสนาพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นพิธีกรรมที่ถูกต้องที่สุดและทรงมีพระพุทธานุญาตให้ทำได้

 

ดังนั้นหากท่านจะปฏิบัติอะไรต่อไปควรพิจารณาก่อนว่า พิธีกรรมนี้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตหรือไม่เพื่อความเป็นพุทธแท้ ที่ปฏิบัติตามคำสอนนั่นเอง