ทศวรรษที่หายไป VS ทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์

20 พ.ค. 2566 | 22:55 น.

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,515 จุด เทียบกับดัชนีเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2556 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ 1,562 จุด ก็แสดงว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ปรับขึ้นเลย ถือว่าเป็น “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป”

ในวันเดียวกัน ดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นเป็น 30,808 จุดแตะจุดสูงสุดในรอบ 33 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี คือในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 หรือ 2012 ที่ 8,870 จุด ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นไป 247% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ12% นับว่าเป็น “ทศวรรษทอง” ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของญี่ปุ่นที่อยู่ที่ประมาณ 0-1% ในช่วงเวลาเดียวกันนอกจากนั้น ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ก็สูงถึง 18% และน่าจะเป็นผลตอบแทนที่ดีที่สุดในโลกตลาดหนึ่ง

อะไรทำให้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาดีเยี่ยมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 20 ปีก่อนหน้านั้น?  คำตอบของผมเป็นเรื่องของ  “การเมือง ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงตลาดหุ้นไทยที่เราเองกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ในวันที่ 1 ตุลาคม 1979 หรือประมาณ 44 ปี ที่แล้วเศรษฐกิจและประเทศญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างแรง ญี่ปุ่นกำลัง “ครองโลก” ในด้านของเทคโนโลยีการผลิตและกลยุทธการบริหารธุรกิจที่โดดเด่น  เช่น  เรื่องของการบริหารสินค้าคงคลังแบบ “Just in Time” ของโตโยตา เป็นต้น “ถนนทุกสาย” ในเวลานั้นต่างก็มุ่งสู่ญี่ปุ่น คนอเมริกันต่างก็กลัวว่าญี่ปุ่นกำลังจะ “แซงหน้า”อเมริกาที่กำลัง “ถดถอย” อานิสงค์จากสงครามเวียตนามและภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นบูมอย่างหนัก เช่นเดียวกับทรัพย์สินสำคัญอย่างที่ดินที่มีราคาขึ้นสูง แค่โตเกียวเมืองเดียวก็อาจจะมีมูลค่ามากกว่ารัฐที่ใหญ่ที่สุดอย่างแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น ภายใน 10 ปี ดัชนีนิกเกอิเพิ่มขึ้นจาก 6,569 จุด เป็น 38,916 จุด ในวันที่ 1 ตุลาคม 1989 และก็เป็นจุดสูงสุดที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ผ่านผลตอบแทนในช่วง 10 ปีคือ 492% หรือคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นปีละประมาณ17.6% เป็นทศวรรษ  “เพชร” ที่หาได้ยากมากในตลาดหุ้นระดับโลก

หลังจากนั้น ดัชนีก็เริ่ม “ดิ่งเหว” สังคมญี่ปุ่นเริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆหายไป สินค้าที่ถูกผลิตอย่าง “สมบูรณ์แบบ” ที่คนญี่ปุ่นทำได้ดีมากถูกแทนที่ด้วยสินค้าใหม่ ๆ ที่ถูกออกแบบให้ผู้บริโภคนิยมในราคาที่ต่ำลงสินค้ายุคใหม่ที่เกิดจากการ“ปฎิวัติดิจิทัล” และความคิดสร้างสรรค์ของ  “เด็ก”  เข้ามาแทนที่สินค้าอุตสาหกรรมและบริการแบบเดิม  โดยที่สังคมและคนญี่ปุ่นที่ค่อนข้าง  “อนุรักษ์นิยม” ไม่สามารถจะตามทัน

ดัชนีนิกเกอิในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น คือในวันที่ 1 ตุลาคม 1999 ลดลงมาเหลือ 18,934 จุดหรือลดลงมาถึง 51.3% ตลาดหุ้นแทบจะเป็น  “นรก”ของนักลงทุน  แต่นั่นก็ยังไม่พอ เพราะเศรษฐกิจก็ยังไม่มีวี่แววที่จะฟื้น เวลาผ่านไปอีก 10 ปี ดัชนีในวันที่ 1 ตุลาคม 2009 ลดลงมาอีกเหลือเพียง 10,546 จุด หรือตกลงไปอีก 44.3% รวมแล้วภายในเวลา 20 ปี  ดัชนีนิกเกอิลดลงจาก 38,916 เหลือ 10,546 หรือลดลง 72.9% เงิน 100 เยน “ลงทุนระยะยาว” ในตลาดหุ้นโตเกียวเป็นเวลา 20 ปี เหลือเฉลี่ยเพียง 27 เยน  หุ้นญี่ปุ่น  “ตายแล้ว”  เช่นเดียวกับเศรษฐกิจและประเทศญี่ปุ่นที่ไม่รู้จะทำอย่างไรหรือจะไปทางไหน  และก็เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นที่แก่ตัวลงมากและดู  “ไม่มีอนาคต”

แต่แล้วในปี 2012 ชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ “หนุ่มที่สุด” ที่เคยเป็นในปี 2006-2007 และลาออกไปเพราะโรคกระเพาะก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งที่เกิด “แลนด์สไลด์” และเขามาพร้อมกับการ “เปลี่ยนแปลง” ครั้งใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น เขาประกาศนโยบาย “ธนู 3 ดอก” ที่จะกระตุ้นและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามานานมาก

ดอกแรกก็คือ นโยบายทางการเงินจะต้องผ่อนคลายและอัตราเงินเฟ้อจะต้องขึ้นไปอยู่ที่ 2% ต่อปี มีการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบมหาศาล เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปถึง 70% 

ในเวลาเพียงปีเดียวธนูดอกที่สองคือนโยบายการคลัง มีการอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างสาธารณูปโภค เงินช่วยเหลือ SME และให้สิทธิประโยชน์กับการลงทุน เพื่อที่จะทำให้ GDP โตขึ้นเป็น 2% ต่อปี  พูดง่าย ๆ  เขาเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเรื่องของเสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาล เขาคิดว่าถ้าเศรษฐกิจไม่โตความมั่นคงทางการคลังก็ไม่มี

ธนูดอกที่สาม ก็คือ กลยุทธ์การเติบโตและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเช่นการเปิดเสรีทางการค้าและการทำสนธิสัญญาทางการค้าขนาดใหญ่ เช่น TPP ซึ่งอาจจะจำเป็นที่จะต้องเปิดตลาดทางด้านสินค้าเกษตรที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น  

นอกจากนั้น เขาก็พยายามให้ผู้หญิงเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “สิ่งใหม่” ในสังคมของญี่ปุ่น และทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวถึงนั้นทำให้คนเรียกแนวทางเศรษฐกิจนี้ว่าเป็น“อาเบะโนมิกซ์” และในทางส่วนตัวเขาเองก็พยายามทำตัวให้ทันสมัยเป็นแนว“คนรุ่นใหม่” ที่มี “เสื้อผ้าหน้าผม” ที่คนระดับนายกจะไม่ทำกันในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีอาเบะได้รับการเลือกตั้งอีกหลายครั้งประมาณ 4 สมัย และเป็นนายกที่อยู่นานน่าจะที่สุดในยุคหลังสงครามโลก และลาออกในปี 2020 เพราะโรคกระเพาะกลับมาคุกคามอีกครั้ง จนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วในระหว่างการช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้พรรค ช่วงตั้งแต่อาเบะเป็นนายกในปี 2012 จนถึงวันนี้ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะดูดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนหน้านั้นแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะแก่ตัวไปอีกมากก็ตามผมเองไม่รู้ว่ามาจากนโยบายของ “รัฐบาล” เป็นหลักหรือไม่  แต่ก็หาเหตุผลอื่นไม่ได้

กลับมาที่ประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจาก “รัฐบาลที่มาจากทหาร” ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531 จนถึงปี 2534 นั้นนายกชาติชายได้ประกาศ “แนวทางใหม่” ของประเทศจากการที่เคยสู้รบกับเพื่อนบ้านมาเป็น “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า”  คือค้าขายกับเพื่อนบ้าน  และเปลี่ยนนโยบายประเทศมาเป็นแบบ  “ทุนนิยมเสรี” เต็มที่  ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนและเป็น “มิตรกับนักธุรกิจ”ว่าที่จริงคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำพรรคการเมืองนั้นต่างก็มาจากนักธุรกิจหรือเป็นคนที่มีนักธุรกิจสนับสนุนในการเลือกตั้งจำนวนมาก

ช่วงระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลชาติชายนั้นประเทศไทยยึดหลักการเป็นตลาดทุนนิยมเสรีมาก มีการเปิด “เสรีทางการเงิน” อนุญาตให้เงินต่างประเทศไหลเข้าออกแบบเสรีซึ่งรวมถึงการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นด้วย  ผลก็คือ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นอย่างแรง ช่วงหนึ่งเคยปรับจากประมาณ 320 จุด เป็น กว่า 1,100 จุด หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 250% ในเวลาเพียง 2.5 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 65%  และนี่ก็น่าจะเป็นผลจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่ “Pro Business” หรือสนับสนุนธุรกิจเอกชนและเปิดตลาดเสรีมากขึ้น

ช่วงเวลาขณะนี้ที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งและกำลังเปลี่ยนรัฐบาลที่มีนโยบายแตกต่างจากเดิมค่อนข้างมาก แต่ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นจะไม่ตอบสนองในทางที่ดีอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว  หรืออย่างในกรณีของช่วงนายกชาติชายเมื่อ 35 ปีที่แล้ว  อย่างไรก็ตามนี่เพียงเพิ่งจะเริ่มต้นไม่กี่วัน อนาคตอีก 2-3 เดือนเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จหรืออีก 1-2 ปี ข้างหน้าเราก็จะรู้ว่านโยบายหรือการปฏิบัติจะเป็นอย่างไรและจะตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแค่ไหน

ในระหว่างนี้ผมคิดว่าผู้ที่จะรับผิดชอบประเทศต่อไปก็ควรจะดูสัญญาณจากดัชนีตลาดหุ้นว่า สิ่งที่จะทำนั้นจะมีผลบวกหรือเป็นลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวแค่ไหน อย่าคิดว่าตลาดหุ้นนั้น เป็นเสียงของคนส่วนน้อย เพราะนี่เป็นเสียงของคนที่เป็นหรืออยู่ในศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ที่สามารถทำนายได้ว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ถ้าหุ้นขึ้นก็มักจะแปลว่านโยบายหรือสถานการณ์ไปถูกทาง  ถ้าหุ้นลงก็เป็นตรงกันข้าม