JAS งานนี้เหนื่อย...

16 พ.ค. 2566 | 22:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ JAS งานนี้เหนื่อย... โดย...เจ๊เมาธ์

*** ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ JAS ของ “เสี่ยพิชญ์” กำลังเจอปัญหาหนักจนเป็นเหตุให้ราคาหุ้นร่วงลงไปแตะ 1.16 บาท ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เข้าตลาดฯ มาแล้ว 29 ปี โดยเริ่มจากผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/66 มีการขาดทุนอีก 875 ล้านบาท หลังจากที่บริษัทขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 

เนื่องจากปัญหาการขายสินทรัพย์ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของกิจการเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นปันผลโดยที่ไม่สนใจว่า บริษัทจะมีรายได้มาจากไหนในอนาคต ทำให้บริษัทขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง จนส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วจากทุนจดทะเบียน 4,296.41 ล้านบาท เนื่องจากในปัจจุบัน JAS มีส่วนของผู้ถือหุ้นเหลืออยู่เพียง 1,577.16 ล้านบาท 

จนล่าสุด JAS ถูกแขวนป้าย C เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ทำให้ต้องซื้อขายหุ้นด้วยเงินสด หรือ บัญชีแคชบาลานซ์ โดยที่เครื่องหมาย C จะถูกผูกติดไปจนกว่าจะแก้ในส่วนของผู้ถือหุ้นให้มีค่ามากกว่า 50% ให้ได้นั้นเอง
 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับ JAS เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นกูรูหุ้น นักวิเคราะห์ หรือ แม้แต่นักบ่นอย่างเจ๊เมาธ์ ต่างก็มองเห็นเหมือนกันว่าวันนี้จะต้องมาถึง ซึ่งหากผู้บริหารยังเน้นเพียงการแก้ไขตัวเลขทางบัญชีเพื่อหวังปลดล็อคเครื่องหมาย C โดยที่ไม่มองไปถึงความยั่งยืนของกิจการก็เป็นไปได้ว่าราคาหุ้นของ JAS ยังคงต่ำตม และมองไม่เห็นทางออกไปอีกนาน เพราะถ้ามีรายจ่ายแต่ไม่มีรายได้แล้วจะเอาอะไรมาโต เรื่องมันก็มีเท่านั้นเองค่ะ
  
 *** ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 ของกลุ่มหุ้นตัวเจรอบนี้ดูเหมือนว่าจะไม่สวย เริ่มจากทาง SINGER ที่ขาดทุนไปถึง 843 ล้านบาท ลากเอาบริษัทแม่อย่าง JMART ขาดทุนตามไปด้วยถึง 294 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้ส่วนแบ่งตัวเลขขาดทุนจาก SINGER ไปถึง 218 ล้านบาท เนื่องจาก JMART เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER ในสัดส่วน 25.2% ในขณะเดียวกันทางด้านของ SGC ซึ่งมี SINGER ถือหุ้นอยู่ 74.92% และทาง JMART ถือหุ้นอยู่ 4.46% ก็ขาดทุนด้วยถึง 368 ล้านบาท ทำให้เหลือเพียงแค่ JMT ซึ่งมีกำไร 453 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดกลายเป็นตัวแบกหุ้นตัวอื่นในกลุ่ม 

ถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ราคาหุ้นของกลุ่มตัวเจ ไม่ว่าจะเป็น JMART SINGER SGC หรือ แม้แต่ JMT ต่างก็ยังน่าจะเหนื่อยต่อไปอีก ถึงแม้ผู้บริหารอย่าง อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา จะบอกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในไตรมาส 3/66 แต่จะมีอะไรมาการันตีว่าจะฟื้น หรือ ถ้าหากว่าทุกอย่างดีขึ้นหรือดีจริง ก็น่าจะบอกด้วยว่า นักลงทุนที่ติดดอยอยู่จะได้ลงเมื่อไหร่...ต้องรอไปจนถึงไตรมาส 3/66 เลยหรือเปล่าถึงจะได้ลงดอย

*** ข่าวที่ทาง SABUY ตัดสินใจขายหุ้น SINGER ที่เคยซื้อเอาไว้ถึง 40 ล้านหุ้น ให้เหลือเพียง 5 ล้านหุ้น ดูเหมือนจะถูกวางจังหวะให้ปล่อยออกมาในเวลาเดียวกับที่ SABUY ได้แจ้งผลงานไตรมาส 1/66 ออกมาว่าบริษัทมีกำไร 166.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน
 
พร้อมทั้งระบุว่า ได้บันทึกผลขาดทุนการลงทุนในหุ้น SINGER ในไตรมาส 1/66 ราว 37 ล้านบาท แถมยังเคลมเครดิตว่า การตัดขายนี้ช่วยให้บริษัทไม่ต้องขาดทุนไปถึง 300 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งหากจะย้อนเรื่องที่ SABUY ได้ลงทุนซื้อหุ้น SIGER ก็เริ่มมาจาก SABUY ประกาศ (1 มี.ค. 66) เข้าไปซื้อหุ้นของ SINGER ทั้งที่ในวันนั้น ราคาหุ้นหน้ากระดานของ SINGER อยู่ที่ราคา 22.50 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาประกาศซื้อที่ 27 บาท อยู่ถึง 4.50 บาท ต่อด้วยการเข้าซื้ออีกรอบที่ราคา 22 บาท ก่อนที่จะมาซื้อครั้งสุดท้ายในตอนที่ราคาหุ้นหน้ากระดานของ SINGER อยู่ที่ 14 บาทกว่าๆ ก่อนที่จะตัดสินใจขายหุ้น SINGER ที่เคยซื้อเอาไว้ถึง 40 ล้านหุ้นให้เหลือเพียง 5 ล้านหุ้น ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
 
ดังนั้นการที่ SABUY ระบุว่าได้บันทึกผลขาดทุนการลงทุนในหุ้น SINGER ในไตรมาส 1/66 เพียง 37 ล้านบาท จึงเป็นการพูดไม่หมด เนื่องจากการขาดทุนที่แท้จริงจะเริ่มขึ้นเมื่อมีการขายเท่านั้น ซึ่งเมื่อขายในกลางไตรมาสที่ 2 ผลการขาดทุนที่แท้จริงก็จะต้องรับรู้ในงบไตรมาส 2/66 เท่านั้น จะมาทำเป็นรู้ก่อนแล้วบอกไม่หมดแบบนี้มันไม่ได้นะจ๊ะ
 
*** หลังจากที่หุ้นไอพีโอหลายตัวสร้างความผิดหวังทำให้เจ๊เมาธ์ เริ่มที่จะต้องให้ความสนใจกับหุ้นไอพีโอเหล่านี้เป็นพิเศษ ล่าสุด บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP ซึ่งเป็นหุ้นไอพีโออีกตัวที่กำลังจะเข้าตลาดเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีอะไรแปลกๆ ให้ต้องมาพูดถึงกันอยู่หลายอย่าง 

เพราะบริษัทจะมีกระแสเงินสด กำไรต่อเนื่อง แต่สังเกตว่า ในปี 65 บริษัทได้กู้เงินจำนวนหนึ่ง โดยส่วนหนึ่งถูกนำไปซื้อกิจการของบริษัท UC Marketing ซึ่งเป็นของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ขณะที่อีกส่วนถูกนำไปจ่ายเป็นปันผลในกลุ่มผู้ถือหุ้น ดังนั้น จึงทำให้การเข้ามาระดมทุนในตลาดฯ ครั้งนี้ อาจเป็นเพียงแค่การระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้หนี้เป็นหลัก รวมไปถึงปัญหาเรื่องการขายบิ๊กล็อตในวันเทรดวันแรกให้ Corner Store จนทำให้มีคำถามว่าทำไมไม่แบ่งขายในส่วนหุ้นไอพีโอไปตั้งแต่ทีแรก เพราะถึงแม้จะมีคำชี้แจงอยู่ในบ้าง แต่มันก็ทำให้เจ๊เมาธ์งงกับบริษัทนี้อยู่ไม่น้อย ถ้ามีอะไร ไม่ถูกต้องอยากชี้แจงก็เล่าให้ฟังได้นะคะ...เจ๊อยากรู้

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,888 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566